ประวัติสมเด็จโต1

ประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี


          พอเริ่มศึกษาประวัติสมเด็จโต ก็เริ่มสับสนแล้วว่าสมเด็จโตเป็นลูกใครกันแน่ แค่ประวัติท่านยังไม่มีข้อยุติ แล้วจะไปตัดสินว่าพระเครื่ององค์ไหนเป็นของท่านสร้างไว้ได้อย่างไร ดังนั้นผมจึงเริ่มค้นคว้าหาความจริงของสมเด็จโต


ความเป็นมา



ความเป็นมาตอน 1จากบันทึกของมหาอำมาตย์ตรี พระยาทิพโกษา สอน โลหะนันท์ พศ. 2473



          จากหนังสือ ตำนานชีวประวัติ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) จากบันทึกของ มหาอำมาตย์ตร๊ พระยาทิพโกษา (สอน โลหะนันทน์) ได้เขียนเล่าไว้ว่า ชื่อเสียงสมเด็จโตเป็นที่ลือชา เกียรติคุณขจรขจายไปทั่วทุกทิศ มหาชนต้องการจะทราบประวัติของท่าน หนึ่งในนั้นคือ นายพร้อม สุดดีพงศ์ อยู่ที่ตลาดไชโย เมืองอ่างทอง ได้ลงมาหา พระมหาสว่าง วัดสระเกศ แล้วพากันข้ามฝากไปวัดระฆัง ไปกราบพระธรรมถาวร (ช่วง) ซึ่งขณะนั้นอายุ 88 ปี จากประวัติท่านเกิดปีพศ.2386 แสดงว่าไปพบปีพศ. 2474 จากการสนทนาได้สอบถามถึงบ้านเกิด ญาติวงศ์พงศ์พันธุ์ ของสมเด็จโต ท่านพระธรรมถาวร-ช่วง ให้ไปดูที่ผนังโบสถ์ วัดอินทรวิหาร เพราะสมเด็จโตให้ช่างเขียนประวัติของท่านไว้
          
          รุ่งขึ้นวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2473 ได้ไปหา ท่านพระครูสังฆรักษ์ เจ้าอธิการวัดอินทรวิหาร (ข้อมูลตรงนี้ถือว่าขัดกันนิดหน่อย พระธรรมถาวร-ช่วง เกิดพศ.2386 ถ้าบวก88ปี ไปพบพศ.2474 แต่ระบุไปพบเจ้าอาวาสวัดอินทรวิหาร วันรุ่งขึ้น ปีพศ.2473) พระครูสังฆรักษ์นำพาลงไปในโบสถ์ เปิดหน้าต่างประตูให้ดูตามปรารถนา

          รูปภาพมีทั้งหมด 12 ฉาก ตั้งแต่ฉากที่ 1 จนถึง ฉากที่ 12 นายพร้อมดูแล้วเห็นว่ายากลำบากที่จะขบปัญหาในภาพต่างๆได้ มล. พระมหาสว่างจึงแนะนำให้นายพร้อม จดทำเอาไปทั้งหมดทุกตัวภาพ เพื่อจะเอาไปช่วยกันเดาสุ่ม คิดค้นเทียบนิยายนิทานตำนานต่างๆ ตลอดถึงพระบรมราชประวัติและราชพงศาวดาร

          ต่อมาในพศ.2485 หนังสือพิมพ์ "ไทยใหม่ " ฉบับประจำปีมะเมีย ได้ตีพิมพ์เรื่อง ประวัติขรัวโต โดยระบุว่า พระยาทิพโกษา (สอน โลหะนันท์) ได้จดบันทึกความตามภาพเหล่านั้นลงไว้ท้ายเรื่อง แสดงว่า นายพร้อม สุดดีพงศ์ เป็นผู้จดคำบรรยายภาพตามที่เห็นในผนังโบสถ์วัดอินทรวิหาร ภายหลังต่อมาพระยาทิพโกษา (สอน โลหะนันท์) ได้ใช้จินตนาการแต่งเรื่องราวประวัติสมเด็จโตขึ้น ซึ่งข้อมูลปีพศ.ที่ระบุล้วนมั่วทั้งสิ้น เมื่อได้ทำการตรวจสอบแล้ว อ้างว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นในช่วงปีจุลศักราช1136(พศ.2317) พระเจ้าตากโปรดเกล้าฯให้พระยาจักรีเป็นแม่ทัพขึ้นไปเชียงใหม่ จนพบอะแซหวุ่นกี้ในปีจศ.1137(พศ.2318) และได้พบแม่งุด ลูกสาวตาผลและยายลา และได้ไปขอมาเป็นภรรยา ข้อมูลจริงสมเด็จโตเกิดพศ.2331 ยายลาไม่มีที่มาที่ไป ถ้าอ่านตลอดทั้งเล่ม ตำนานชีวประวัติ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) จากบันทึกของ มหาอำมาตย์ตรี พระยาทิพโกษา (สอน โลหะนันท์) เป็นนิยายที่แต่งขึ้นทั้งสิ้น

          ภาพที่ 5 ที่นายพร้อม ได้จดบรรยายไว้มีความดังนี้
"ข้างหน้าต่างต่อมา มีภาพประตูเมืองกับคนยืนอยู่ในประตู 
มีภาพวัดอยู่ริมแม่น้ำ พระอาจารย์แก้วกำลังกวาดวัด กับมีแม่เพียน ท่าทองกำลังนั่งไหว้อยู่
มีภาพโบสถ์และศาลา ที่มุมมีเด็กนอนอยู่ในเบาะ เขียนชื่อว่า เด็กบุญเรือง บุตรนายผล กับตัวนายผลกับแม่งุด กำลังหมอบกราบอยู่ข้างๆเด็กนั้น
อีกตอนหนึ่งมีภาพ พระสงฆ์นั่งอยู่บนกุฏิ เขียนนามข้างล่างว่า เจ้าขรัวบางลำพู กับมีบุรุษและสตรีอีก3-4 คนเดินอยู่ข้างล่าง
อีกตอนหนึ่งริมตลิ่งมีภาพ คนกำลังขุดดิน อีกคนหนึ่งกำลังเอาหีบเล็กๆจะฝัง มีผู้หญิงนั่งร้องไห้อยู่ข้างๆ และผู้ชายอีกคนหนึ่งให้ผู้หญิงซึ่งแบกของคล้ายๆคัมภีร์ขี่คอ ใต้คนหมู่นี้ มีหนังสือเขียนไว้ว่า " พระยารักษาคลัง "
อีกตอนหนึ่ง เป็นภาพทหาร 2 คน เดินนำหน้าแม่ทัพขี่ม้าขาว และมีทหารเดินตามหลังอีกหลายคน มีหนังสือเขียนไว้ว่า " กรุงกำแพงเพชร "
           สรุป จากที่เชื่อกันในหมู่คนไทยว่า สมเด็จโตเป็นลูกของรัชกาลที่ 1 เป็นข้อมูลมาจากพระยาทิพโกษา (สอน โลหะนันท์)



ความเป็นมาตอน 2 ฉบับของ "ฉันทิชัย " หรือ ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ พศ.2492



          ปฐมเหตุ ในการเขียนเรื่องสมเด็จโต ของฉันทิชัย เริ่มเมื่อปีพศ. 2492 พท. หลวงรณสิทธิพิชัย อธิบดีกรมโฆษณาการขอให้มาช่วยจัดรายการวิทยุกระจายเสียง ประจวบกับความนิยมในสมเด็จโตของประชาชนมีอยู่มาก จึงได้ค้นประวัติของสมเด็จฯมาเขียนขึ้นเป็นตอนๆ ตอนหนึ่งอ่านประมาณ 10-15 นาที มีคุณแม่น ชลานุเคราะห์ เป็นผู้อ่าน รวม 46 ตอน มีผู้นิยมฟังและตามขอต้นฉบับเป็นอันมาก ต่อมาจึงได้จัดพิมพ์ขึ้น โดยนำเงินกำไรไปบำรุงโรงพยาบาลจุฬาฯ โรงพยาบาลสงฆ์ และโรงพยาบาลตำรวจ

          ฉันทิชัยได้เล่าว่า ได้พบกับ มหาพรหม ขะมาลา เปรียญสำนักวัดพระเชตุพน ซึ่งเป็นข้าราชการเก่าแก่ของกรมศิลปากรและในฐานะที่ครั้งหนึ่งเคยรับราชการร่วมกันมาที่กรมศิลปากร ทั้งเคยฟังคำเล่าจาก เจ้าคุณมงคลทิพมุนี ( มุ้ย ) เจ้าอาวาสวัดจักรวรรดิ สมัยมหาพรหม ขะมาลา ยังเป็นพระภิกษุอยู่ มหาพรหมได้เล่าให้ฉันทิชัยฟังเพราะรู้ว่าฉันทิชัยกำลังค้นหาประวัติสมเด็จโตอยู่ เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน แต่ก็มีปัญหาเกิดขึ้น มิอาจตกลงกันได้ในเรื่องประวัติสมเด็จโต เพราะอาจารย์ของมหาพรหมเล่าว่า 

          ชาติภูมิดั้งเดิมของสมเด็จโตอยู่ที่ตำบลท่าอิฐ อำเภอมหาโพธิ์ อุตรดิตถ์ ทำมาหากินไม่ได้ผล จึงอพยพมาอยู่ที่ตำบลไชโย มารดาสมเด็จโตเป็นสาวสวย เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 เสด็จขึ้นไปทัพทางภาคเหนือไปได้มารดาของสมเด็จโต เป็นบาทบริจาริกา และเมื่อเสด็จกลับ ก็มิได้รับมารดาของสมเด็จโตมาด้วย อยู่ต่อมามารดาของสมเด็จโตตั้งครรภ์ โดยที่มิทราบว่าบิดาของสมเด็จโตคือใคร ทราบแต่ว่าเป็นแม่ทัพใหญ่ เมื่อครบกำหนดคลอด ก็คลอดสมเด็จโตและให้นามว่า " โต " นอกจากนี้ยังไม่ทราบว่ามารดาชื่ออะไร วันและเวลาเกิดก็ไม่ทราบอีกด้วย

          ฉันทิชัยกล่าวว่า เรื่องนี้เคยพิสูจน์ไว้ครั้งหนึ่งแล้วว่า ในปีพศ. 2330-2331 เป็นปีที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ต้องตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ในงานพระราชการสงคราม ณ ตำบลทุ่งลาดหญ้า แขวงเมืองกาญจนบุรี และโดยเสด็จสมรกรรม ณ ตำบลท่าดินแดง ตำบลสามสบ และได้ดำรงตำแหน่งโยธาหารเป็นยกกระบัตร โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกขึ้นไปตีเมืองทวาย อยู่ถึง 2 ปีเศษ (ดูพระบรมราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ฉบับพิมพ์ของกรมศึกษาธิการ )

          แต่เมื่ออาศัยตำนานพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ ที่พระเจ้าบรมวงศืเธอกรมพระสมมุติอมรพันธุ์ ทรงนิพนธ์ไว้แล้ว ก็ทราบได้ว่าสมเด็จโตท่านชาตะ ณ วันพฤหัส ขึ้น 12 ค่ำ เดือน 5 ปีวอก จุลศักราช 1150 ตรงกับวันที่ 17 เมษายน พศ.2331

          จากตอนที่ 9 ภาพประวัติสมเด็จฯ  "ฉันทิชัย" เขียนไว้ว่า ภาพที่ปรากฎ ณ ผนังโบสถ์นี้เป็นภาพเขียนและเมื่อพิเคราะห์ดูแล้ว ก็สุดปัญญาที่จะวินิจฉัยให้แจ่มแจ้งลงไปได้ แต่เคยได้อ่านบันทึกของพระยาทิพโกษา ที่บรรยายภาพที่วัดอินทรวิหาร ตามภาพที่ 5 ที่นายพร้อม สุดดีพงศ์ ได้บรรยายไว้ มีอ้างอิงถึงภาพและชื่อบุคคลและชื่อภิกษุ ที่ปรากฎในผนังโบสถ์หลายแห่งและข้อที่ควรต้องระลึกไว้เสมอก็คือ จากปากคำของญาติของสมเด็จโตที่ชื่อกลิ่นและไหน ทั้ง 2 คนนี้อยู่กับพระยาทิพโกษาและได้เล่าให้พระยาทิพโกษาฟังว่า

          สมเด็จโต ท่านเกิดที่บ้านท่าหลวง อยุธยา แล้วมารดาของท่านพาไปอยู่ที่บ้านไชโย อ่างทอง ท่านไปนั่งได้ที่นั่น ท่านจึงได้สร้าง พระนอนองค์โต ไว้ที่วัดสะตือ บ้านท่าหลวง อยุธยา หมายความว่า ท่านนอนอยู่ที่นั่น แล้วท่านได้สร้าง พระนั่งองค์โต ไว้ที่วัดไชโย หมายความว่า ท่านนั่งได้ที่นั่น ต่อมามารดาพาท่านลงมาอยู่ที่บ้านบางขุนพรหม กรุงเทพฯ ท่านมายืนได้ที่นั่น ท่านจึงสร้าง พระยืนองค์โต ไว้ที่วัดอินทรวิหาร พระที่ท่านสร้างไว้ใหญ่โตเพื่อให้สมกับนามของท่านที่ชื่อ โต แต่บิดามารดาของท่านชื่ออะไรไม่ทราบ 

          ตามที่ฟังการเล่ามาดังนี้ น่ารับฟังและน่าจะเชื่อถือได้ แต่น่าเสียดายที่ไม่ทราบว่าบิดามารดาสมเด็จโตชื่ออะไร แต่เมื่อพิเคราะห์ตามประวัติที่เขียนไว้ ณ ผนังโบสถ์วัดอินทรวิหารแล้ว ฉันทิชัย มีความเห็นว่า " เห็นมีชื่อนายผลกับแม่งุดนั่งอยู่ด้วยกัน มีเด็กวางอยู่ในเบาะคนหนึ่งชื่อ บุญเรือง นายผลกับแม่งุดนั้น สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นบิดาและมารดาของสมเด็จท่าน และเด็กบุญเรืองนั้นคือสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)

            ฉันทิชัยกล่าวว่า ตามที่ได้บรรยายไว้ว่า สมเด็จโตมีนิวาสสถานดั้งเดิมอยู่ที่จังหวัดกำแพงเพชร แต่บิดามารดาของท่านได้อพยพลงมาอยู่กรุงศรีอยุธยา ได้มีผู้สนใจในชีวะประวัติของสมเด็จโต เขียนจดหมายมาถามและสอบถามด้วยปากคำมากมายด้วยกันว่า " มีหลักฐานที่น่าเชื่อถืออยู่หรืออย่างไร ที่กล่าวว่านิวาสสถานดั้งเดิมของสมเด็จโต อยู่ที่จังหวัดกำแพงเพชร ถ้ามีหลักฐานก็ควรนำมาแสดงเพื่อประกอบการบรรยายให้เป็นที่เชื่อถือยื่งขึ้น "

           เรื่องนิวาสสถานดั้งเดิมของสมเด็จโต ก่อให้เกิดความวิตกแก่ฉันทิชัยเป็นอันมาก เพราะเท่าที่กล่าวไปก็ด้วยเหตุที่เชื่อจากภาพเขียนประวัติของท่านในโบสถ์วัดอินทรวิหารเพียงอย่างเดียว ชีวิตประวัติของท่านเป็นเรื่องเก่าแก่ ผู้เฒ่าผู้แก่ที่รู้เรื่องของท่านต่างก็ล้มหายตายจากไปหมดแล้ว จึงทำให้ฉันทิชัยวิตกต่อการสันนิษฐานชนิดเสี่ยงภัยเป็นอันมาก และที่วิตกยิ่งขึ้นก็คือ ไม่ทราบว่าจะหาหลักฐานใดมายืนยัน แต่ในที่สุดฉันทิชัยนึกออกว่าหลักฐานที่กล่าวพาดพิงไปถึงนิวาสสถานของสมเด็จนั้นมีอยู่ เป็นหลักฐานที่พอจะสาวเหตุอนุมานเข้าไปหาผลได้

          นั่นคือพระราชหัตถ์เลขาของพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงปิยมหาราช ครั้งเสด็จประพาสต้นครั้งที่ 2  เมื่อพศ. 2449 ดำรัสให้สมเด็จหญิงน้อย ทรงรับตำแหน่งราชเลขาธิการฝ่ายใน จากพระราชนิพนธ์ดังกล่าว มีอ้างถึงสมเด็จโตไว้ด้วย ปรากฎอยู่ในพระราชนิพนธ์ประจำวันที่ 25 สิงหาคม 2449 ว่า

           " เมื่อปีระกาเอกศก จุลศักราช 1211 ( พศ. 2392) สมเด็จพระพุฒาจารย์โต วัดระฆัง ขึ้นมาเยี่ยมญาติที่เมืองกำแพงเพชร ได้อ่านแผ่นศิลาจารึกอักษรไทยโบราณ มีอยู่ที่วัดเสด็จได้ความว่า มีพระเจดีย์โบราณบรรจุพระบรมธาตุอยู่แม่น้ำปิง ฝั่งตะวันตกตรงหน้าเมืองข้าม "

          อนึ่ง เพื่อให้ประวัติสมเด็จโต ที่ฉันทิชัยบรรยายมานี้สมบูรณ์ด้วยหลักฐาน ฉันทิชัยได้คัดสำเนาหนังสือของนายชิต มหาดเล็กเวรเดช ผู้เป็นหลานพระยาประธานนคโรไทย จางวางเมืองอุทัยธานี ได้เขียนรายงานทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงปิยมหาราช ถึงเรื่องตำนานพระพิมพ์ ซึ่งตำนานนั้น มีระบุถึง สมเด็จโต ไว้ด้วย

          ครั้งแรกที่จะได้พบพระเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุและพระพิมพ์เหล่านี้ เดิม ณ ปีระกา เอกศกจุลศักราช 1211 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆังกรุงเทพฯ ขึ้นมาเยี่ยมญาติ ณเมืองกำแพงเพชรนี้ ได้อ่านแบบศิลาจารึกอักษรไทยโบราณ ที่ประดิษฐานอยู่ ณ อุโบสถวัดเสด็จ ได้ความว่า มีเจดีย์โบราณบรรจุพระบรมธาตูอยู่น้ำปิง ตะวันตก ตรงหน้าเมืองเก่าข้าม 3 องค์ ขณะนั้นพระยากำแพง (น้อย) ผู้ว่าราชการเมือง ได้จัดการค้นคว้าพบวัดและเจดีย์ สมตามอักษรในแผ่นศิลา จึงป่าวร้องบอกบุญราษฎรช่วยกันแผ้วถางและปฏิสังขรณ์ขึ้น เจดีย์ที่ค้นพบเดิมมี 3 องค์ องค์ใหญ่ซึ่งบรรจุพระบรมธาตุอยู่กลาง ชำรุดบ้างทั้ง 3 องค์ ภายหลังพระยากำแพงเพชร (อ่อง) เป็นผู้ว่าราชการเมือง แซรพอเกรียง (ที่ราษฎรเรียกว่า พญาตะก่า) ได้ขออนุญาต รื้อพระเจดีย์ 3 องค์นั้น ได้พบกรุพระพุทธรูปพิมพ์ และลานเงินจารึกอักษรขอม กล่าวตำนานการสร้างพระพิมพ์และลักษณะการสักการะบูชาด้วยประการต่างๆ พระพิมพ์ชนิดนี้ มีผู้ขุดค้นได้ที่เมืองสวรรค์บุรีครั้งหนึ่ง แต่หามีแผ่นลานเงินไม่ แผ่นลานเงินตำนานนี้ กล่าวว่ามีเฉพาะแต่ในพระเจดีย์ วัดพระธาตุ ฝั่งน้ำปิง ตะวันตกแห่งเดียว

          น่าเชื่อว่า สมเด็จโต ขึ้นไปเยี่ยมญาติที่เมืองกำแพงเพชร เมื่อจุลศักราช 1121 (พศ. 2392) นั้น อายุท่านได้ 61ปี พรรษา 41



ความเป็นมาตอน 3 ฉบับของตรียัมปวาย พศ. 2495


          ตรียัมปวายหรือพ.อ. ผจญ กิตติประวัติ ได้จัดพิมพ์ตำราพิจารณาพระสมเด็จประมาณ 600 หน้า เมื่อพศ. 2495 ท่านเป็นผู้บัญญัติศัพท์เบญจภาคีอันโด่งดัง หนังสือ ปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่องฯ เล่มหนึ่ง พระสมเด็จฯ เป็นหนังสือเชิงวิชาการรวบรวมชีวประวัติของสมเด็จโตและตำนานการสร้างพระสมเด็จฯไว้ สำหรับประวัติสมเด็จโต ท่านให้ความเห็นไว้ดังนี้

          เพื่อการเปรียบเทียบและหักล้างกับข้อความแต่ละประการ โดยอาศัยเจ้าแม่แห่งเหตุผล และหลักฐานเป็นปทัสถาน เป็นความจริงทีเดียวอันจะกล่าวได้ว่า วิญญูชนผู้ศึกษาพึงมีวิจารณญาณพิจารณาได้อย่างเสรีว่า อันใดชอบหรือมิชอบด้วยเหตุผลหรือหลักฐาน ที่ควรแก่การยอมรับหรือหาไม่ประการใด ขอผู้ศึกษาจงดำริตริตรองโดยแยบคายเถิด

          1 สมเด็จโต สมภพ ในปีพศ. 2331 ฉะนั้น โยมมารดาของท่านจะต้องตั้งครรภ์ในปีพศ.2330 คือนับถอยหลังไปอีก 280 วัน แต่ในระหว่างพศ. 2330-2331 ร.2 สมัยทรงพระยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ โดยเสด็จสมรกรรมกับล้นเกล้าฯ ร.1 ณตำบลทุ่งลาดหญ้าและตำบลท่าดินแดง กาญจนบุรี และสงครามเมืองทวาย ในตำแหน่งยกกระบัตรทัพ จึงไม่มีโอกาสที่จะทรงเป็นโยมผู้ชายของสมเด็จโตได้

         ตรียัมปวายให้ความเห็นว่า ในฐานะยกกระบัตรทัพ คือแม่กองจัดหายุทธปัจจัยเครื่องใช้สอยทั้งปวงสนับสนุนกองทัพ ร.2ก็ทรงเคลื่อนกองจัดหาไปในมณฑลต่างๆ โดยเฉพาะในเขตแขวงย่านสมบูรณ์ต่างๆ เพื่อรวบรวมสัมภาระส่งไปบำรุงกองทัพ ฉะนั้นในระหว่างเดือน 9 ปีมะแม (พศ.2330) ร.2 ทรงนำกองยกกระบัตรจากกาญจนบุรีมาแสวงหาสัมภาระอยู่ที่จังหวัดอ่างทอง และทรงพบกับโยมมารดาของสมเด็จโต จึงเป็นพฤติการณ์ที่เป็นไปได้อย่างยิ่ง เพราะบริเวณนั้นเป็นแหล่งสมบูรณ์ด้วยผลิตผล หรือเป็นอู่ข้าวอู่น้ำสนับสนุนกองทัพได้เป็นอย่างดี

          ท่านผู้อ่านมาถึงตรงนี้ ท่านจะเชื่อเหตุผลของใคร ระหว่า
งฉันทิชชัย กับ ตรียัมปวาย

          2 ภาพผนังโบสถ์วัดอินทรวิหาร ซึ่งสมเด็จโตให้ช่างวาดไว้ มีอยู่ภาพหนึ่งที่มีรูปสามีภรรยาคู่หนึ่งพร้อมด้วยทารกแบเบาะ ใต้ภาพมีอักษรจารึกชื่อว่า นายผล แม่งุด และเด็กชายบุญเรือง สันนิษฐานว่าจะเป็น โยมผู้ชายและโยมผู้หญิง ส่วนเด็กชายบุญเรือง คงจะเป็น สมเด็จโต นั้น

          ตรียัมปวายให้ความเห็นว่า สามัญสำนึกที่สำคัญประการหนึ่งก็คือ ถ้าหาก นายผลกับแม่งุด เป็นโยมทั้งสองของสมเด็จโตจริง เหตุใดท่านจึงจารึกอักษรเรียกบุคคลทั้งสอง โดยใช้คำว่า "นาย" และ "แม่" ควรจะใช้คำว่า "โยม" จึงจะชอบด้วยเหตุผล
          ส่วนการที่สันนิษฐานว่าท่านมีนามว่า บุญเรือง นั้น เป็นเรื่องที่ค่อนข้างตลกยิ่งขึ้นไปอีก เพราะนายกลิ่นและนายโทน ผู้เป็นหลานของสมเด็จโต ก็ได้เล่าให้พระยาทิพโกษาฟังว่า ท่านชื่อ โต นายพรหม ขะมะลา ก็บันทึกไว้เช่นนั้น และตัวสมเด็จเอง ก็ใช้นามนี้มาตลอดอายุขัย สัญญลักขณ์นามที่ท่านแสดงออกก็คือ การสร้างพระพุทธรูปขนาดเขื่องๆ ซึ่งชาวบ้านก็เรียกกันว่า หลวงพ่อโต และไม่ว่าใครก็เรียกท่านว่า ขรัวโต ข้อสันนิษฐานว่าท่านชื่อ บุญเรือง เป็นเรื่องตลกของผู้คัดค้านคนนั้นเอง

          3 ถ้าหากสมเด็จโต เป็นราชตระกูลจริง ร.4 และร.5 คงจะทรงพระราชดำรัสถึงเรื่องนี้บ้าง แต่ไม่ปรากฎในพระราชนิพนธ์ของทั้ง 2 พระองค์ แม้จะทรงตรัสถึง ก็ตรัสอย่างพระราชาคณะธรรมดา ไม่แสดงว่ามีลักษณะเป็นกุลสัมพันธ์แต่อย่างใด

            ตรียัมปวายให้ความเห็นในกรณีนี้ว่า
3.1 ร.1ทรงรับเป็นพระราชภาระ เมื่อสมเด็จโตอุปสมบทนั้น โปรดเกล้าให้เป็นนาคหลวง กระทำอุปสมบท ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม อันเป็นกรณีที่ไม่เคยทรงโปรดบุคคลสามัญเช่นนี้มาแต่ก่อน
3.2 ร.2 ถึงกับทรงพระราชทาน เรือกราบกันยาหลังคากระแซง อันเป็นเรือหลวง สำหรับเจ้านายชั้นพระองค์เจ้าให้ท่านไว้ใช้ในกิจส่วนตัว เหตุการณ์เช่นนี้ไม่เคยมีมาในประวัติศาสตร์แต่ก่อนเลย ถ้าหากว่าบุคคลผู้ได้รับพระราชทานมิได้เป็นเชื้อพระวงศ์
3.3 ร.4 ทรงเคารพนับถือสมเด็จโตเป็นพิเศษ ไม่เคยทรงถือพระองค์ต่อสมเด็จโต ทรงพระราชทานอภัยโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นกรณีใดๆ ครั้งหนึ่งเคยทรงบริภาษพระราชาคณะรูปหนึ่งว่า " จะเอาอย่างขรัวโตไม่ได้ ขรัวโตไม่มีการทำผิด ฉันยกให้เป็นพิเศษ"
3.4 ร.5 วันบรมราชาภิเษกเถลิงถวัลยราชสมบัติ ล้นเกล้าฯก็ทรงอาราธนาสมเด็จโต ถวายพระธรรมเทศนา เรื่อง ทศพิศราชธรรมและจักรวรรดิวัตร อันเป็นเรื่องที่สำคํญที่สุดและเป็นวาระแรก ก่อนการถวายพระธรรมของสมเด็จพระราชาคณะรูปอื่นๆ ซึ่งสมเด็จโต แม้จะเป็นพระเถระที่แตกฉานพระปริยัติธรรมก็จริง แต่มิได้เคยเข้าสอบเป็นเปรียญ การแสดงธรรมเป็นปฐมกัณฑ์ในวันบรมราชาภิเษก โดยพระราชาคณะเปรียญสูงๆและพระธรรมกถึกเอก บรรดามีในสมัยนั้นก็หาได้รับพระราชทานโอกาสดังกล่าวไม่ ทั้งนี้ไม่เกี่ยวกับการนับถือเป็นส่วนพระองค์ น่าจะเป็นเพราะกุลสัมพันธ์แห่งพระราชวงศ์

           4. การที่สมเด็จพระมหาสมณะกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงพระนิพนธ์จดหมายเหตุมรณกาลของสมเด็จโตว่า " สมเด็จพระพุฒาจารย์สิ้นชีพิตักษัย " นั้นอาจเป็นเพราะเข้าพระทัยผิดว่า ตำแหน่งสมณศักดิ์ สมเด็จพระพุฒาจารย์เป็นตำแหน่งสูง เทียบชั้นหม่อมเจ้าได้ จึงได้ทรงใช้ราชาศัพท์คำนี้

          ตรียัมปวายให้ความเห็นกรณีนี้ว่า
การที่กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงพระนิพนธ์จดหมายเหตุบันทึกมรณกาลของสมเด็จโต โดยทรงใช้คำ "ถึงชีพิตักษัย " นั้น เท่ากับเป็นการบอกใบ้เป็นครั้งสุดท้าย ให้บุคคลทั้งหลายได้ใช้สามัญสำนึก ถึงชาติตระกูลของสมเด็จโตโดยแท้ ราชาศัพท์คำนี้ใช้สำหรับหม่อมเจ้า การที่ไม่ทรงใช้ศัพท์ให้สูงถึงพระองค์เจ้านั้น คงจะทรงเกรงว่าจะเป็นการโจ่งแจ้งเกินไป

            5. ชีวประวัติสมเด็จโต ฉบับของนายพรหม ขะมะลา(เปรียญ) ที่กล่าวว่า ท่านเป็นพระหน่อของล้นเกล้าฯ ร.2 นั้น เชื่อไม่ได้ เพราะหลักฐานอ่อน เช่น ตอนที่กล่าวว่า สมเด็จโตบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดไชโย อ่างทอง เป็นต้น ซึ่งที่ถูกต้องนั้น บรรพชาที่ในจังหวัดพระนครนี่เอง โดยมีพระบวรวิริยเถระ เป็นพระอุปัชฌาย์

          ตรียัมปวายให้ความเห็นกรณีนี้ว่า การที่อ้างว่า สมเด็จโตบรรพชาสามเณรที่กรุงเทพฯนั้น ต่างก็ถือเอาตามเรื่องราวที่ปรากฎในหนังสือของพระยาทิพโกษาฯด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งโดยยุติธรรมแล้ว ก็หามีน้ำหนักเพียงพอที่จะถือเป็นหลักฐานคัดค้านหนังสือของนายพรหมฯได้ไม่

           นอกจากนี้ สมเด็จโตยังได้สร้าง หลวงพ่อโต(พระพุทธพิมพ์) ไว้ที่วัดไชโย เป็นอนุสรณ์รำลึกถึงสถานที่นี้ แสดงว่าท่านต้องมีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้ง อาจจะมีความหมายเลยไปถึง การสร้างเพื่ออุทิศส่านกุศลถึงโยมทั้งสองของท่าน ซึ่งได้มาพบกันครั้งแรกที่นั่นก็ได้ และภายหลังเมื่อท่านมรณภาพแล้ว ก็ยังได้มีผู้สร้าง รูปหล่อองค์ท่าน ไว้ที่วัดนี้อีกด้วย อันส่อให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างท่านกับวัดไชโยและตำบลนี้มิใช่เล็กน้อย สมจริงตามบันทึกของนายพรหมฯที่ว่าเยาว์วัยท่านได้อยู่ที่นั่นและเล่าเรียนหนังสือเบื้องต้นที่วัดแห่งนี้

           ท่านมิใช่ชาวเมืองกำแพงเพชร ดังที่ฝ่ายคัดค้านทึกทักเอาง่ายๆ โดยการอาศัยแต่เพียงคำกราบบังคมทูลของนายชิต ต่อล้นเกล้าฯร.5 เรื่องการถวายตำนานพระทุ่งเศรษฐีว่า " สมเด็จโต ขึ้นมาเยี่ยมญาติที่กำแพงเพชร " เพราะคนเราอาจมีญาติอยู่หัวเมืองก็ได้ เพราะต่างก็มีเท้าเคลื่อนที่ไปหากินยังถิ่นฐานอื่นๆได้ หรืออาจจะมิได้หมายความว่าเป็นญาติกันจริงๆ อาจเป็นเพียงคนที่ชอบพอคุ้นเคยกับท่านก็ได้ นอกจากนี้นายชิตมิได้เน้นว่า การขึ้นมากำแพงเพชรของสมเด็จโตว่าเพื่อเหตุใด หากเน้นในเรื่องการพบกรุพระกำแพงเพชรต่างหาก

           อนึ่ง การที่นายพรหมบันทึกไว้ว่า "ในปีนั้นปรากฎว่า มีศึกมาติดหัวเมืองฝ่ายเหนือ" นั้น หมายถึง สงครามครั้งที่ 3 คราวพม่าตีเมืองนครลำปางและเมืองป่าซาง ปีมะแม พ.ศ. 2330 อันเป็นปีเกิดสงครามซ้อนกันทั้งทางเหนือและทางทวาย และเป้นปีที่โยมมารดาของสมเด็จโตตั้งครรภ์ ดังกล่าว อันการที่กษัตริย์หรือเจ้าฟ้าจะทรงปรารถนาอิสตรีเพื่อบาทบริจาริกา ในโอกาสแปรพระราชฐานไปในท้องถิ่นต่างๆ ก็ย่อมเป็นการชอบด้วยพระอัธยาศัยและพระอำนาจ เพราะในยุคนั้นไพร่ฟ้าและข้าแผ่นดินทั้งหลายย่อมถือว่าเป็นสมบัติของพระมหากษัตริย์โดยนัยแห่งสมบูรณาญาสิทธิราช



ความเป็นมาตอน 4 ประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต)ฉบับ พระครูกัลยาณานุกูล รวบรวมและเรียบเรียง พิมพ์ครั้งที่ 2 พศ. 2495


           พระครูกัลยาณานุกูลหรือพระมหาเฮง อิฏฐาจาโร ได้บันทึกไว้ในคำนำ ฉบับพิมพ์ครั้งแรกว่า วันหนึ่งในเดือนธันวาคม พศ.2492 ได้พบเรื่อง " ประวัติขรัวโต" ซึ่งพระยาทิพโกษา (สอน โลหะนันทน์) ได้รวบรวมและพิมพ์ไว้ในหนังสือพิมพ์ไทยใหม่รายวัน ฉบับประจำเดือนกุมภาพันธ์ พศ.2485 ท่านรู้สึกเลื่อมใสในสมเด็จโตเป็นอย่างยิ่ง จึงเริ่มดำเนินการค้นคว้าประวัติของสมเด็จโต แต่เอกสารเกี่ยวกับประวัติมีไม่มากนัก ส่วนมากเป็นเรื่องที่ได้ฟังบอกเล่ากันต่อๆมา บางเรื่องก็เกินจริง เกินความพอดี ทำให้ประวัติของสมเด็จโตด่างพร้อยมัวหมอง และชื่อว่าเป็นการทำลายเกียรติ หาใช่เฉลิมเกียรติของท่านไม่ ดังพระนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในหนังสือ "ความทรงจำ "หน้า40ว่า " การแต่งหนังสือเฉลิมเกียรติ ควรกล่าวแต่ที่เป็นความจริง ถ้าเอาความเท็จมากล่าว หาเป็นเฉลิมเกียรติไม่ "

1 พระครูกัลยาณานุกูล ได้กล่าวถึงชาติภูมิสมเด็จพระพุฒาจารย์  ไว้ว่า นามเดิมว่า โต นามฉายาว่า พรหมรังสี คำว่า " พุฒาจารย์ "ในหนังสือตำนานคณะสงฆ์ พระนิพนธ์ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า เดิมเขียนเป็น " พุทธาจารย์ " เห็นจะเทียบด้วยนาม พระพุทธโฆษาจารย์ เพิ่งเขียนเป็น " พุฒาจารย์ " ในสมัยร.4

ท่านเกิดในสมัย ร.1 สร้างกรุงรัตนโกสินทร์ได้ 7 ปี ณ บ้านไก่จ้น (ท่าหลวง) อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (ความที่กล่าวตรงนี้ นายกลิ่น ญาตินายโทน หลานของสมเด็จโต เล่าให้พระยาทิพโกษาฯฟัง)

ท่านเกิดวันพฤหัส เดือน 5 ขึ้น 12 ค่ำ ปีวอก สัมฤทธิ์ศก จ.ศ.1150 ตรงกับวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2331 เวลาพระบิณฑบาต มีผู้รู้โหราศาสตร์ผูกดวงชะตาไว้ดังนี้ พระยาทิพโกษาฯ กล่าวไว้ในคำนำเรื่อง "ประวัติขรัวโต" ว่า ดวงชะตาสมเด็จโต  สมเด็จฯกรมพระยาปวเรศฯ ทรงคำนวณถวายพระพุทธเจ้าหลวง ด้วยมีพระราชประสงค์จะทราบว่า ผู้ที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไปมีดวงชะตาเป็นอย่างไร แล้วประทานดวงชะตานั้นไปยัง สมเด็จฯกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ และประทานให้พระยาทิพโกษาเก็บรักษาสืบมา ดวงชะตาที่ว่านี้ลัคนาสถิตราศีใดหาทราบไม่ แต่ได้พบดวงชะตาสมเด็จโตในหอสมุดแห่งชาติ ปรากฎว่าลัคนาอยู่ราศีพฤษภ แต่ที่พบที่อื่นราศีเมษ

สกุลวงศ์ของสมเด็จโต ที่จะกล่าวถึงนี้มาจาก พระมงคลเทพมุณี (มุ้ย ปัณฑิโต) เจ้าอาวาสวัดจักรวรรดิราชาวาส เมื่อเป็นที่พระธรรมวิหารีเถร อยู่วัดพระเ๙ตุพนฯเล่าให้นายพรหม ขะมาลา เปรียญ ฟังว่า " มารดาท่านชื่อเกตุ (ธิดานายไชย) เดิมเป็นชาวบ้านตำบลท่าอิฐ อำเภอบ้านโพ (ปัจจุบันอำเภอเมือง) จังหวัดอุตรดิตถ์ ต่อมาสมัยหนึ่ง ทำนาไม่ได้ผล เพราะฝนแล้งมาหลายปี จึงย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ ณ บ้านไก่จ้น (ท่าหลวง) อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บิดาชื่อไรไม่ทราบแน่ ทราบแต่ว่าเป็นชาวเมืองอื่น เมื่อท่านเกิดแล้ว (ยังเป็นทารกนอนเบาะ) มารดาพาท่านไปพักอยู่ที่ตำบลบ้านไชโย จังหวัดอ่างทอง พอท่านสอนนั่งได้ มารดาก็พาท่านมาอยู่ ณ บ้านตำบลบางขุนพรหม จังหวัดพระนคร สืบมา (พระมหาเฮงสันนิษฐานว่า การที่มารดาพาท่านมาอยู่ที่ตำบลบางขุนพรหมนั้น ด้วยประสงค์จะมาสืบหาบิดาของท่านเป็นข้อสำคัญ)  ต่อมาภายหลังท่านได้สร้างพระโต เป็นอนุสรณ์ เนื่องในตัวท่าน ณ ตำบลทั้ง 3 นั้น ดังจะกล่าวต่อไป ในที่อื่นข้างหน้า

พระมหาเฮง มีความเห็นส่วนตัว เชื่อได้ว่า สมเด็จโต เป็นเชื้อพระวงศ์ ข้อนี้มีหลักฐานอ้างอิง ด้วยความปรากฎในเรื่องประวัติว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อดำรงพระยศเป็นสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ได้พระราชทานเรือกราบกันยาหลังคากระแซงให้สมเด็จโต แต่ยังเป็นสามเณร (ในหนังสือพระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 5 ว่า "พระมหาอุปราชในรัชกาลที่ 3 สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ (พระองค์เจ้าชายอรุโณทัย) ทรงประพฤติถ่อมพระองค์มาก เป็นต้นว่า เรือพระที่นั่ง ก็ทรงเริอกราบกันยาหลังคากระแซงอย่างพระองค์เจ้าทรง ไม่ดาดสีเหมือนเรือเจ้าฟ้า" )

นอกจากนี้ ปรากฎในจดหมายเหตุบัญชีน้ำฝน พระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาปวเรศฯ (เล่ม 3 หน้า 44) ว่า "วันเสาร์ แรม 2 ค่ำ เดือน 8 (ต้น) ปีวอก จ.ศ.1234 (พ. ศ.2415) เวลา 2 ยาม สมเด็จพระพุฒาจารย์ถึงชีพิตักษัย" ดังนี้


ความเป็นมาตอน 5 ประวัติ ความจริง สมเด็จโต ของ นายอมร ชุติมาวงศ์

จากการศึกษาข้อมูลของสมเด็จโต มาตามลำดับ ของนักเขียน นักรวบรวมเรียบเรียง มาเป็นลำดับ นั้น
1 พระยาทิพโกษา ว่า " ท่านเป็นลูกของร.1"
2 ฉันทิชชัย ว่า "ท่านเป็นลูกของนายผลและแม่งุด" 
3 ตรียัมปวาย ว่า "ท่านเป็นลูกของร.2
4 พระครูกัลยาณานุกูลหรือพระมหาเฮง ว่า "ท่านเป็นลูกของร.2"

ปรากฎว่ายังไม่ได้ข้อยุติใดๆ จนกระทั่งในวันหนึ่งของปีพ.ศ. 2558 ผมได้ทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม อยู่นั้น ได้พบและสนทนากับลูกค้ารายหนึ่งชื่อว่า คุณศรีรัตน์ นุชนิยม ได้ทราบว่าเป็นลูกหลานของเจ้าเมืองกำแพงเพชร ผมนึกถึงสมเด็จโต จึงถามไปว่า มีประวัติของตระกูลเจ้าเมืองกำแพงเพชร เขียนไว้บ้างหรือไม่ ได้รับคำตอบว่ามีและได้จัดส่งมาให้

บทความต่อไปนี้ ปรากฎอยุ่ในหนังสือพิมพ์ไทสยาม หน้าที่ 8 ชื่อบทความคือ "ทายาทเจ้าเมืองกำแพงเพชร ถามถึงดาบประจำตระกูล"

คุณปฐมพร นุชนิยม และคณาจารย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขน ได้เดินทางมาเยี่ยมชมจังหวัดกำแพงเพชร โดยการต้อนรับและนำเที่ยว โดย คุณสรเดช สุรเดช อุปนายกสมาคมสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดกำแพงเพชร และนายสวัสดิ์ จันทนานนท์ นายกสมาคมฯ พานำเที่ยวโดยสารรถไฟฟ้าขององค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชร

คุณปฐมพร นุชนิยม ซึ่งเป็นหนึ่งในทายาทของตระกูลกำแพงเพชร ได้สนใจสอบถามถึงดาบประจำตระกูลเจ้าเมืองกำแพงเพชร ซึ่งในยุคต้นราชวงศ์จักรี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ 1) ได้พระราชทานแก่พระยารามรณรงค์สงครามรามภักดีอภัยพิริยะปรากรมพาหุ (ก๊กวังหลัง)หรือพระยากำแพง (นุช) เมื่อครั้งไปราชการกับทัพแขกปัตตานี ได้เชลย 100 ครัว มีความดีความชอบได้รับพระราชทานดาบด้ามทอง ฝักทองคำ เป็นบำเหน็จ ต่อมาภายหลังหลวงพิพิธอภัย (อ้น) ทายาทพระยากำแพง ได้นำดาบฝักทองประจำตระกูล ทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5)  ซึ่งเสด็จประพาสต้นที่กำแพงเพชร พระองค์ทรงรับและพระราชทานคืนไว้ให้เป็นพระแสงราชศัตราวุธ สำหรับประจำจังหวัดกำแพงเพชร ปัจจุบันได้เก็บรักษาไว้ที่คลังจังหวัดกำแพงเพชร โดยไม่มีการนำมาเปิดเผยนานกว่า 200 ปี

คุณปฐมพร ได้มีความเห็นว่า ทางจังหวัดน่าจะมีการนำเอาพระแสงราชศัตราวุธหรือดาบประจำตระกูลเจ้าเมืองกำแพงเพชร มาแสดงให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปได้ชมและศึกษา ในด้านโบราณวัตถุที่ทรงคุณค่าของแผ่นดิน จึงได้ขอฝากให้สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดกำแพงเพชร ได้ประสานกับทางจังหวัดต่อไป

ด้านนายสรเดช สุรเดช อุปนายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดกำแพงเพชร กล่าว่า ทางสมาคมฯได้ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมจากคุณปฐมพร นุชนิยม และคุณศรีรัตน์ นุชนิยม ได้รับมอบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ทั้งเกี่ยวกับต้นตระกูลพระยากำแพงเพชรและดาบประจำต้นตระกูลเจ้าเมืองกำแพงเพชร รวมทั้งข้อมูลสืบทอดทายาท โดยทางสมาคมฯได้มีการประชุมหารือคณะกรรมการ เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของทายาทตระกูลนุชนิยม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ ไม่เเพียงแต่คุณค่าทางด้านศิลปวัฒนธรรม โบราณวัตถุล้ำค่าที่หายากเท่านั้น หากแต่จะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดกำแพงเพชรอีกด้วย

สำหรับข้อมูลที่ได้รับจากคุณปฐมพรและคุณศรีรัตน์ นุชนิยม มีดังนี้

                                   ประวัติเจ้าเมืองกำแพงเพชร

ครั้งรัชกาลที่ 1-5 (เอกสารบันทึกไว้ประมาณปี พ.ศ. 2485)

เดิมพระยารามรณรงค์สงครามรามภักดีอภัยพิริยะปรากรมพาหุ (พระยากำแพงเพชร-นุช) เป้นก๊กวังหลัง ทำราชการอยู่กรุงเทพฯ ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีภรรยาเรียกกันว่า ท่านผู้หญิงชี แต่ชื่อจริงเรียกว่า "กาว" เป็นราชธิดาเจ้าผู้ครองนครเชียงราย ได้สร้างวัดชีนางกาว เดี่ยวนี้คำว่าท่านผู้หญิงชี เพราะบวชเป็นชี

{จากจดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช}

(วัดชีนางเกา เป็นวัดเล็กๆที่อยู่กลางเมืองกำแพงเพชร แต่มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจมาก เพราะที่ท่าน้ำหน้าวัดนางชีเกา เคยเป็นที่ตั้งพลับพลาพักแรมของพระพุทธเจ้าหลวงและเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธสยามมงกุฎราชกุมาร ในปี 2448, 2449,2450 ต่อมาได้นำพลับพลารับเสด็จมาเป็นโรงเรียนของกุลสตรีกำแพงเพชร เรียกกันว่าโรงเรียนสตรีพลับพลา

วัดชีนางเกา ผู้สร้างคือ ท่านผู้หญิงชี หรือ พระองค์หญิงกาวหรือเกา ราชธิดาของเจ้าผู้ครองนครเชียงราย ได้มาเป็นชายาของพระยารามรณรงค์สงครามรามภักดีอภัยพิริยะพาหะ (นุช) เจ้าเมืองกำแพงเพชร ในแผ่นดินของพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อสิ้นพระยากำแพงเพชร (นุช) ท่านได้บวชเป็นชีและได้สร้างวัดชีนางเกาขึ้น ตามตำนานว่า บวชอยู่ที่นี่จนสิ้นบุญ ปัจจุบัน วัดชีนางเกา เหลืออยู่เพียงโบสถ์ที่มีพระประธานที่สมบูรณ์งดงาม พระพักตร์เหมือนสตรี (ท่านผู้หญิงเกาหรือกาว)

แต่เดิมวัดแห่งนี้เป็นที่เลื่องลือกันว่าผีดุมาก ใครผ่านจะโดนผีหลอกเสมอ กลางคืนจะไม่มีใครกล้าเดินผ่าน เสียดายปัจจุบันแทบไม่มีคนสนใจหรือรู้จักด้วยซ้ำ)

ประวัติเจ้าเมืองกำแพงเพชร(ต่อ)

มีความว่าพระยากำแพง (นุช) เป็นญาติกับสมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดระฆัง เรียกกันว่า ท่านเจ้าโต

พระยากำแพงเพชร (นุช) ได้เป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชร เพราะไปราชการกับทัพแขกปัตตานี ได้เชลย 100 ครัว มีความดีความชอบได้รับพระราชทานดาบด้ามทอง ฝักทองคำ เป็นบำเหน็จ (ปัจจุบันดาบนี้อยู่ที่ศาลากลาง จังหวัดกำแพงเพชร เป็นพระแสงราชศัตราวุธ สำหรับประจำจังหวัด โดยหลวงพิพิธอภัย (อ้น) ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง (รัชกาลที่ 5 ) ซึ่งเสด็จประพาสต้นที่กำแพงเพชร แล้วพระราชทานคืนไว้ให้ประจำจังหวัด

เมื่อพระยากำแพงเพชร (นุช) ได้รับพระราชทานแขก 100 ครัว จึงให้แขกที่ตีได้นั้น มาตั้งบ้านเรือนอยู่เกาะแขก ปัจจุบันอยู่ริมฝั่งตะวันตก เยื้องหน้าวัดเจ๊ก ท้ายเมืองกำแพงเพชร

พระยากำแพงเพชร (นุช) มีบุตรกับท่านผู้หญิงกาวหรือเกา คือ
1 ท่านผู้หญิงแพง
2 ท่านผู้หญิงพลับ
3 บุตรชาย ที่เป็น พระฤทธิเดช รับราชการอยู่ที่กรุงเทพฯ

ท่านผู้หญิงแพง เป็นภรรยาพระยากำแพงเพชร (นาค) มีบุตรด้วยกัน 6 คน ชาย 5 หญิง 1 คือ

1 พระยากำแพงเพชร (บัว) ไปราชการทัพเวียงจันทร์ กลับมาก็ถึงอนิจกรรมในเวลานั้น

2 พระยาสวรรคโลก (เถื่อน) ลงไปรับราชการอยู่กรุงเทพฯ เป็นพระยาราชสงคราม ไปราชการทัพเวียงจันทร์ ได้ลาวเชลยมา 100 ครัว มีความชอบ โปรดเกล้าให้ขึ้นมาเป็น พระยากำแพงเพชร แทนพี่ชายและได้รับพระราชทานลาว 100 ครัวเรือนด้วย ได้ให้เชลยตั้งบ้านเรือนอยู่วัดป่าหมู เหนือบ้านหลวงมนตรี ปัจจุบันเรียกว่า เกาะยายจันทร์ รับราชการได้ 16 ปีเศษ พระยากำแพงเพชร (เถื่อน) ก็ถึงอนิจกรรม

3 ชื่อ น้อย เป็นพระพล อยู่แล้ว ได้เลื่อนขึ้นเป็น พระยากำแพงเพชร รับราชการ 15 ปี ถึงแก่อนิจกรรม

4 ชื่อ เกิด รับราชการเป็น พระยาตาก อยู่ 10 ปี ไปราชการทัพเชียงตุง กลับจากทัพได้เลื่อนเป็น พระยากำแพงเพชร แทนพี่ชายอยู่ 11 ปี จึงถึงแก่อนิจกรรม (เป็นปู่ของพระยากำแหงสงคราม- ฤกษ์ นุชนืยม)

5 ชื่อ สุดใจ รับราชการอยู่กรุงเทพฯ เป็นที่พลพ่าย (ท่านทั้ง 5 นี้ เป็นมหาดเล็กหุ้มแพรทุกท่าน)

6 ชื่อ อิ่ม เป็นท้าวอยู่ในแผ่นดินสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและรับราชการอยู่จนแผ่นดินพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

ในระหว่างนั้น พระอินทรเดช (บัว) เป็นคนกรุงเก่าต่างสกุล มาเป็นผู้รักษาการเมือง คือ ต้นสกุลรามโกมุท มารับราชการได้ 3 ปี ก็ออกจากที่นั่น

พระพล (อ่อง) ซึ่งเป็นบุตรท่านผู้หญิงพลับ น้องท่านผู้หญิงแพง ซึ่งเป็นภรรยา พระยารณชัยชาญยุทธ พระพล (อ่อง) รับราชการอยู่สุโขทัย นามสกุลเดียวกัน ได้เลื่อนมาเป็นพระยากำแพงเพชร ไปราชการทัพกลับมาป่วย ถึงแก่อนิจกรรมที่เมืองสุโขทัย รับราชการได้ 5 ปี

ระหว่างนั้น พระยามหานุภาพ ต่างสกุลมาเป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชร ตั้งจวนอยู่ที่วัดเจ๊ก ท้ายเมืองกำแพงเพชร แล้วได้เลื่อนเป็นพระยากำแพงเพชร บรรดาศักดิ์ว่า พระยารามณรงค์สงคราม รับราชการได้ 25 ปี ก็ถึงแก่อนิจกรรม

พระอิทรแสนแสง (หรุ่น) ปลัดจังหวัด ได้เลื่อนเป็น พระยารณรงค์สงคราม เป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชร แทนพระยารามรณรงค์สงคราม (อ้น รามสูต) ได้คุณหญิงจับ -พี่สาวพระยารามณรงค์สงคราม (หรุ่น อินทรสูต) เป็นภรรยา และพระยารามณรงค์สงคราม (หรุ่น อินทรสูต) ได้คุณหญิงภู่ น้องสาวพระยารามรณรงค์สงคราม (อ้น รามสูต) เป็นภรรยา

พระยารามรณรงค์สงคราม(หรุ่น อินทรสูต) มีบุตรกับคุณหญิงภู่ ดังนี้
1 คุณหญิงสังวาลย์ เป็นภรรยา พระยาสุจริตจันทร์ (เชื้อ กัลยาณมิตร)
2 หลวงราชขันธ์ (โต๊ะ อินทรสูต)

พระยารามรณรงค์สงคราม (หรุ่น อินทรสูต) รับราชการได้ 7 ปี ก็ชราภาพ ทางราชการเปลี่ยนบรรดาศักดิ์เป็น พระยามหาพฤฒาพิสิฎฐ์ เอาราชทินนามพระยารามรณรงค์สงคราม ไปให้แก่ทหารเสีย เป็นอันว่าหมดสกุลกำแพงเพชรเพียงเท่านี้

สำหรับนามสกุล รามสูต หลวงวรภัท (เลื่อน) บุตรพระยารามรณรงค์สงคราม (อ้น) รับราชการกรมศุลกากร เป็นผู้ขอพระราชทานนามสกุลต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานว่า " รามสูต" ผู้ที่ขอพระราชทานหาได้สอบสวนไต่ถามวงศาคณาญาติถึงต้นสกุล คือ พระยากำแพงเพชร (นุช)

ทราบแต่เพียงปู่ทวด คือ พระยากำแพง (เกิด) ต่อมาพระยากำแหงสงคราม (ฤกษ์) อยู่ที่จังหวัดลำปาง เป็นบุตรพระยากำแหงสงคราม (เหลี่ยม) ซึ่งเป็นบุตรพระยากำแพงเพชร (เกิด) ได้แยกขอพระราชทานนามสกุลไปอีกสายหนึ่ง โปรดเกล้าพระราชทานนามสกุลว่า "นุชนิยม"

เมื่อพระราชทานนามสกุล "รามสูต" นั้น ครั้งแรกพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งว่าคำว่า "ราม" ต่อไปไม่ให้ใครอีกแล้ว เพราะเป็นพระปรมาภิไธยของพระองค์ ก่อนหน้านั้นมีพระยาปราสาทวิริยกิจ ขอรับพระราชทานนามสกุลว่า "รามบุตร" และพระยาปราสาทวิริยกิจ ข้าหลวงลำพูน เป็นญาติเรียงพี่เรียงน้อง ปู่เดียวกันกับนามสกุล "นุชนิยม" แต่ได้ขอไว้เสียก่อนแล้ว

  "กลิ่นบัว" ได้แก่ ขุนราชรัดดารักษ์ (ริ้ว) มาจากพระยากำแพงเพชร (บัว)

 "นาคน้อย" มาจากพระยากำแพง (น้อย) มีนายหมีซึ่งเป็นตาของพุดจีน ภรรยานายแยก รามสูต

ดังนั้น นามสกุล กลิ่นบัว นาคน้อย รามบุตร นุชนิยม รามสูต จึงเป็นนามสกุลสายเดียวกัน

บทความ ทายาทเจ้าเมืองกำแพงเพชร ถามถึงดาบประจำตระกูล ยังได้บันทึกต่อไปว่า

เมื่อปลายรัชกาลที่ 3 พระยากำแพงเพชร ได้จัดการปลงศพ ท่านผู้หญิงแพง ได้รับพระราชทานหีบศีลหน้าเพลิง (ไฟพระราชทาน) และจัดการศพที่หาดทราย หรือตรงโรงสีนายล้อม นุตตโยธิน ซึ่งเป็นบ้านของท่านมาแต่เดิม

ในการศพนี้ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ก็ได้เสด็จมาในงานนี้ด้วย เพราะท่นผู้หญิงแพงเป็นป้าของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)  สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)ได้เสด็จประพาสไปในที่ต่างๆ  ถึงวัดเสด็จ (เดิมชื่อวัดไชยพฤกษ์) สังเกตเห็นจอมปลวกอยู่แห่งหนึ่ง คือที่มณฑปพระพุทธบาทสวมไว้น้ัน จึงเสด็จเข้าไปยืนหลับพระเนตรอยู่ประมาณ 10 นาที แล้วลืมพระเนตรตรัสกับพระยากำแพงเพชร (น้อย) ว่า " ให้ขุดจอมปลวกเดี๋ยวนี้ มีใบเสมาจารึก" เมื่อขุดจอมปลวกออก ก็มีใบเสมาอยู่จริง เมื่อล้างน้ำดีแล้ว ท่านทรงอ่านและแปลศิลาจารึก พร้อมเสวยเพลในวัดนั้น เมื่อแปลจารึกแล้ว ก็มีรับสั่งว่า "มีพระบรมสารีริกธาตุอยู่ฝากโน้น (ตะวันตก) คือแถบวังแปบ ให้รีบหาคนไปถากถาง" พระยากำแพงเพชร (น้อย) ได้จัดการตามรับสั่ง ก็ได้พบพระบรมสารีริกธาตู (ปัจจุบัน คือวัดพระบรมธาตุ นครชุม กำแพงเพชร องค์เจดีย์เดี๋ยวนี้สร้างใหม่แล้ว ไม่ใช่องค์เก่า) จึงได้ย้ายเชลยชาวลาว 100 ครัว ที่อยู่เกาะยายจัน วัดป่าหมู ไปเป็นเสขะวัด เฝ้าพระบรมสารีริกธาตุ อยู่ที่ตำบลนครชุม (คลองสวนหมาก) จนปัจจุบันนี้ ส่วนวัดไชยพฤกษ์ เลยกลายเป็นวัดเสด็จ เพราะสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เสด็จประพาสที่วัดนี้ 

เหตุที่ปลงศพท่านผู้หญิงแพง ที่กลางหาดทรายหน้าบ้านนั้น เนื่องจากระหว่างที่เก็บศพไว้ที่จวนนั้น เกิดเพลิงไหม้อยู่ 10 วัน ตลอดจนถึงที่ตั้งโรงสีใต้ในปัจจุบัน ทางเหนือจรดวัดเสด็จ ซึ่งเป็นเขตบ้านของท่านผู้หญิงแพง เมื่อเพลิงไหม้ ก็ต้องย้ายศพหนีเพลิงลงไปกลางหาด เลยปลงศพตรงนั้นเลย

ส่วน "วัดเจ๊ก" นั้น เดิมชื่อ "วัดยาง" แล้วเปลี่ยนเป็นชื่อ "จำปี" เนื่องจากเมื่อได้แขก มาเป็นเชลย พวกแขกนำต้นจำปีมาปลูก จึงชื่อว่า "จำปี" ต่อมาภายหลังมีพระจีนมาอยู่ จึงเรียกว่า "วัดเจ๊ก" มาจวบจนปัจจุบัน

รายนามข้าหลวงประจำจังหวัดกำแพงเพชร
1 พระยารามรณรงค์สงครามรามภักดีอภัยพิริยะปรากรมพาหุ (นุช) ต้นสกุล กลิ่นบัว นาคน้อย  รามบุตร นุชนิยม รามสูตร กีกวังหลัง ครั้งรัชกาลที่ 1 ไปราชการทัพปัตตานี ได้เชลยแขกมา 100 ครัว ได้รับพระราชทานด้ามดาบและฝักทองคำ (ปัจจุบันอยู่ศาลากลางจังหวัดกำแพงเพชร)
2 พระยารามรณรงค์สงคราม (นาค)-บุตรเขย-สามีท่านผู้หญิงแพง
3 พระยารามฯ (บัว) บุตรพระยารามฯ (นาค) กลับจากทัพเวียงจันทร์ ถึงแก่กรรม
4 พระยารามฯ (เถื่อน) น้องชายพระยารามฯ (บัว) ย้ายมาจากกรุงเทพฯ มาเป็นเจ้าเมือง ไปทัพเวียงจันทร์ได้เชลย 100 ครัว เชลยเวลานี้อยู่นครชุม
5 พระยารามฯ (น้อย) น้องชายพระยารามฯ (เถื่อน)
6 พระยารามฯ (เกิด) น้องชายพระยาราม (น้อย)
7 พระอินทรเดช (บัว รามโกมุท)  รับราชการ 3 ปี ก็ปลดออกจากราชการ
8 พระยารามฯ (อ่อง) บุตรท่านผู้หญิงพลับ และสามี-พระยารณชัยชาญยุทธ
9 พระยามหานุภาพ ตั้งจวนชั่วคราวอยู่ที่ท้ายวัดเจ๊ก เป็นเจ้าเมืองอยู่ 1 เดือน ก็ถึงแก่กรรม
10 พระยารามฯ (อ้น รามสูต) บุตรพระยารามฯ (เกิด)
11 พระยารามฯ (หรุ่น อินทรสูต) ภายหลังเป็น พระยามหาพฤฒิฒาพิสิฏฐ์


ข้อเท็จจริง

จากข้อมูลความเป็นมาทั้งหมดข้างต้น เมื่อนำมาตรวจสอบหาข้อมูลเพิ่มเติมจากประวัติศาสตร์ชาติไทย ได้ความว่า

เดิมพระยารามฯ (นุช) เป็นก๊กวังหลัง นั้น คำว่า ก๊กวังหลัง หมายถึงว่าเป็นลูกน้องของกรมพระราชวังหลัง หรือกรมพระร่าชวังบวรสถานพิมุข-สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ ซึ่งเป็นพระพระบุตรของ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดี พระนามเดิมว่า สา เป็นพระธิดาองค์ใหญ่ในสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก ประสูติแต่พระอัครชายา (หยก) ในสมัยอยุธยา และเป็นพระโสทรเชษฐภคินีพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งพระภัสดา คือ พระอินทรรักษา (เสม)

กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข (วังหลัง) พระนามเดิม ทองอิน พระโอรสองค์ที่ 1 ตอนกรุงศรีอยุธยาแตกท่านอายุได้ 21 ปี เริ่มรับราชการในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตาก เป็นที่หลวงฤทธิ์นายเวร จนปีพ.ศ. 2523ได้เลื่อนเป็นพระยาสุริยอภัย ผุ้สำเร็จราชการเมืองนครราชสีมา เป็นกำลังสำคัญในการปราบจลาจลในช่วงปลายรัชกาล เมื่อร.1ทรงสถาปนาราชวงศ์จักรีในปีพ.ศ.2525 โปรดให้เฉลิมพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ 

จากบทความ กรมพระราชวังหลัง รวบรวมและบันทึกโดย พระยาสากลกิจประมวล (มล.แปลก เสนีวงศ์ฯ) เรียบเรียงโดย นายยิ้ม บัณฑยางกูร พ.ศ.2328 พม่ายกทัพมาเรียกว่า สงคราม 9ทัพ ให้กรมพระราชวังหลัง เป็นแม่ทัพยกขึ้นไปทางเหนือ ให้เจ้าฟ้ากรมหลวงนรินทร์รณเรศเป็นปลัดทัพ ให้เจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) ที่สมุหกลาโหม เป็นทัพหน้า ให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน บุญ-หลง) เป็นแม่ทัพปีกซ้าย พระยาอุไทยธรรม (บุนนาค) เป็นแม่ทัพปีกขวาพร้อมด้วยพลนิกายยกไปรบพม่า ณ ด่านเมืองนครสวรรค์ (ที่ปากน้ำโพ) กรมพระราชวังหลังรบชนะพม่าวันอาทิตย์ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 4 ปีมะเส็ง สัปตศกนั้น เวลา 6 โมงเช้า พ.ศ.2328 มีความชอบรบชนะพม่า เลื่อนขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระอนุรักษ์เทเวศน์ ดำรงพระเกียรติยศในที่ กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข รับบัญชาตามแบบอย่าง กรมพระราชวังหลัง

แผนการรบของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ร.1 คือจัดกองทัพออกเป็น 4 ทัพ โดยให้รับศึกทางที่สำคัญก่อน แล้วค่อยตีทัพที่เหลือ

 ทัพที่ 1 ให้กรมพระราชวังหลังยกไปรับพม่าทางเหนือที่เมืองนครสวรรค์ เพื่อรับพม่าที่มาจากเชียงแสนและทางด่านแม่ละเมา โดยเวลานั้นทัพของเจ้าเมืองตองอูที่ยกมาจากเชียงแสนได้เข้าตีเมืองลำปาง ของพญากาวิละ แต่ไม่อาจเอาชนะได้ จึงตั้งทัพล้อมเมืองไว้ และแบ่งกำลังพล 5,000 ยกลงมาตีหัวเมืองฝ่ายเหนือได้ทั้งหมด ก่อนที่จะมาตั้งค่ายมั่นที่ปากพิง เมืองพิษณุโลก ส่วนทัพที่ 9ของพม่าได้ยึดเมืองตากไว้ได้ และตั้งมั่นค่ายรอสมทบกับทัพใหญ่ของเจ้าเมืองตองอูอยู่ที่นั่น

ชัยชนะเหนือกองทัพพม่า ทางด่านเจดีย์สามองค์และด่านบ้องตี้ ทำให้ฝ่ายไทยมีกำลังพลพอไปจัดการกับพม่าทางด่านอื่น สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ จึงทรงให้สมเด็จวังหน้านำทัพสองหมื่นลงใต้ไปปราบทัพอังวะที่เข้ามาทางด่านสิงขร 

ส่วนพระองค์ยกพลสองหมื่นขึ้นไปปราบพม่าทางเหนือ หลังจากทัพมาถึงเมืองพิจิตร ก็ทรงให้ข้าหลวงถือสาส์นไปเร่งให้ กรมพระราชวังหลังนำทัพเข้าตีพม่า ที่มาตั้งที่ปากพิง เมืองพิษณุโลก จนแตกพ่าย สังหารข้าศึกได้กว่า 800 นาย จนศพลอยเต็มแม่น้ำ

ขณะเดียวกันทัพที่ 9 ของพม่าที่ยึดเมืองตากเอาไว้ได้นั้น เมื่อทราบข่าว ค่ายปากพิงแตกแล้ว ก็เกิดความหวาดกลัว จึงล่าถอยออกไป

สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ จึงให้กรมพระราชวังหลังยกทัพไปตีทัพหลวงของกองทัพที่สามของพม่าที่ล้อมเมืองลำปางอยู่ โดยมีพญากาวิละคอยต่อสู้ป้องกันอย่างเข้มแข็ง เมื่อทัพยกไปถึงได้ร่วมมือกันตีกระหนาบทัพพม่าจนแตกพ่ายล่าถอยกลับไปเมืองเชียงแสน

ทัพที่ 2 ให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ยกไปรับทัพหลวงของพระเจ้าปดุงที่เข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ ตั้งรับทัพอยู่บริเวณทุ่งลาดหญ้า เชิงเขาบรรทัด กาญจนบุรี เพื่อตัดเสบียงของพม่า สมเด็จวังหน้าทรงให้ออกญาสีหราชเดโช ออกญาท้ายน้ำ และออกญาเพชรบุรี คุมไพร่พล 500นายออกปล้นเสบียงพม่า ทว่าทั้งสามกลับหวาดกลัวและหลีกหนีหน้าที่ สมเด็จวังหน้าทรงให้ประหารชีวิตเสีย และให้เจ้าขุณเณร ซึ่งเป็นพระอนุชาต่างมารดาของของกรมพระราชวังหลังคุมกำลังนักรบกองโจรแทน ซึ่งสามารถทำการปล้นชิงและทำลายเสบียงซึ่งใช้ช้างศึกถึง 60 เชือกขน และมีไพร่พลคุ้มกันหลายร้อยคนลงได้ ทำให้ทัพหลวงของพม่าขาดเสบียงต้องถอยทัพ รู้ถึงฝ่ายไทยอย่างรวดเร็ว สมเด็จวังหน้าทรงนำทัพเข้าตีพม่าที่ลาดหญ้า หลังการรบอันดุเดือด ไทยตีค่ายพม่าได้ทั้งหมด สังหารข้าศึกได้ถึงหกพันคน และจับเป็นเชลยได้อีกหลายพันคน ทำให้พม่าที่เข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์แตกพ่ายและล่าถอยไปจนหมดสิ้น

ทัพที่ 3 ยกไปรับทัพพม่าที่จะมาจากทางใต้ที่เมืองราชบุรี

ทัพที่ 4 เป็นทัพหลวงโดยมีสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เป็นผูืคุมทัพคอยเป็นกำลังหนุน เมื่อทัพไหนเพลี่ยงพล้ำก็จะคอยเป็นกำลังหนุน

หลังจากฝ่ายไทยจะตีทัพพม่าแตกพ่ายไปได้ในสงคราม 9 ทัพ พระเจ้าปดุงยังมิได้ทรงยอมแพ้และได้ส่งกองทัพมาตีไทยอีกครั้งในปีพ.ศ.2329 แต่ก็แตกพ่ายไปที่ท่าดินแดงและสามสบ เขตเมืองกาญจนบุรี จากนั้นพระองค์ยังทำสงครามกับฝ่ายไทยอีกหลายครั้ง แต่ก็พ่ายแพ้ไปทุกครั้ง จนพม่าสิ้นความพยายามและไทยก็สามารถอยู่ยั้งยืนยงมาถึงทุกวันนี้



ครั้นเสร็จศึกพม่าหรือสงครามเก้าทัพ เมื่อพ.ศ.2528 รัชกาลที่ 1 โปรดให้ น้อง คือ กรมพระราชวังหน้า ยกทัพลงไปตีหัวเมืองทางปักษ์ใต้ถึงมลายูปัตตานี มีความในพระราชพงศาวดาร ตอนตีเมืองปัตตานี ซึงสุจิตต์ วงษ์เทศ ได้ยกมาดังนี้

 "แล้วดำรัสว่า เมืองตานีและเมืองแขกทั้งปวง ยังมิได้มาอ่อนน้อม ยอมเป็นข้าขอบขัณฑสีมา ตั้งแข็งเมืองอยู่ จำจะยกทัพหลวงออกไปตีเมืองแขกทั้งปวงมาเป็นเมืองขึ้น อยู่ในพระราชอาณาเขตให้จงได้ จึงดำรัสให้กองหน้ายกออกไปตีหัวเมืองแขกทั้งปวง มีเมืองตานีเป็นต้น

ทัพหลวงก็เสด็จยกหนุนไป ด้วยเดชะพระราชกฤษฎาธิการ บรรดาเมืองแขกทั้งปวงก็พ่ายแพ้แก่พลข้าหลวงทั้งสิ้น ที่สู้รบปราชัยจึงได้เมืองก็มีบ้าง ที่แตกหนีมิได้ต่อรบก็มีบ้าง ที่มาอ่อนน้อมยอมสวามิภักดิ์ก็มีบ้าง

และเมืองตานีนั้นเป็นเมืองใหญ่ ได้ปืนทองใหญ่ในเมืองสองบอก ทรงพระกรุณาให้เข็นลงในสำเภาและได้เครื่องสรรพศัสตราวุธต่างๆกับสรรพวัตถุสิ่งของทองเงินเป็นอันมาก บรรดาเจ้าเมืองกรมการแขกมลายูทั้งปวง ที่สู้รบตายในที่รบบ้าง จับเป็นได้ฆ่าเสียบ้าง จำไว้บ้าง ที่หนีไปได้บ้าง ที่เข้าสวามิภักดิ์โดยดีก็มิได้ลงโทษบ้าง และพระเดชานุภาพก็ผ่านแผ่ไปในมลายูประเทศทั่วทั้งปวง

ขณะนั้นพระยาไทร พระยากลันตันและพระยาตรังกานู ก็เกรงกลัวพระราชกฤษฎาเดชาธิการ ก็แต่งศรีตวันกรมการ ให้คุมเครืองราชบรรณาการนำมาทูลเกล้าฯถวาย ขอเป็นเมืองขึ้นข้าขอบขัณฑสีมา ณ กรุงเทพมหานคร จึงมีพระราชบัณฑูรให้แต่งหนังสือบอกข้าราชการ ซึ่งได้ชัยชนะแก่พม่าปัจจามิตร และเสด็จไปปราบหัวเมืองแขกปราชัยได้บ้านเมืองเป็นอันมาก ที่มาขอขึ้นก็หลายเมือง ให้ข้าหลวงถือเข้ามากราบทูลพระกรุณา สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชเจ้า ยังกรุงเทพมหานคร

พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าหลวง ได้ทรงทราบ ก็ทรงพระโสมนัส ดำรัสสรรเสริญสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า แล้วโปรดให้มีตราตอบออกไปแจ้งข้อราชการ ซึ่งเสด็จพระราชดำเนินทัพหลวงขึ้นไปปราบอริธิราชไพรี ณ หัวเมืองฝ่ายเหนือปราชัยไปสิ้นแล้ว ให้อัญเชิญเสด็จสมเด็จพระบรมราชอนุชาให้ยาตราพยุหทัพหลวงกลับคืนยังพระนคร

กรมพระราชวังบวรฯได้ทรงทราบในท้องตราว่า มีพระราชโองการให้หาทัพกลับ จึงดำรัสให้กวาดครอบครัวเชลยแขกทั้งหลายบรรทุกในเรือรบ กับทรัพย์สิ่งของทองเงินและเครื่องศัสตราวุธต่างๆ และให้แบ่งครอบครัวแขกทั้งหลายให้ไว้สำหรับบ้านเมืองบ้างทุกๆเมือง แล้วโปรดตั้งบรรดาขุนนางแขก ซึ่งมีใจสวามิภักดิ์ เป็นเจ้าเมืองกรมการอยู่รักษาหัวเมืองแขกทั้งปวงซึ่งตีได้นั้น

อนึ่ง ทรงทราบว่าธัญญาหารในกรุงยังไม่บริบูรณ์ จึงดำรัสให้ขนข้าวในหัวแขกทั้งปวงนั้น ลงบรรทุกในเรือกองทัพทุกๆลำ เสร็จแล้วจึงให้เลิกกองทัพกลับมาทั้งทางบกและทางเรือ มาถึงพระนครในเดือน11 ปีมะเมีย อัฐศก ศักราช 1148 (พ.ศ.2329) เสด็จขึ้นเฝ้ากราบทูลแถลงราชกิจการสงคราม ซึ่งมีชัยชนะ แล้วทูลถวายปืนใหญ่ยาวสามวาศอกคืบสองนิ้วกึ่ง กระสุนสิบเอ็ดนิ้วบอกหนึ่ง ยาวห้าศอกคืบเก้านิ้วกระสุนสามนิ้วกึ่งบอกหนึ่ง ซึ่งได้มาแต่เมืองตานีและครอบครัวแขกและพม่าเชลย กับทั้งเครื่องศัตราวุธต่างๆ

จึงมีพระราชโองการดำรัสให้ เจ้าพนักงานลากปืนใหญ่เข้าไว้ ณ โรงในพระราชวัง บอกใหญ่นั้นให้จารึกนามลงกับบอกปืน ชื่อ พระยาตานี"

สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้บันทึกต่อไปว่า ครัวชาวเมืองปัตตานีที่เป็นแขกมุสลิม ถูกกวาดต้อนเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ คราวนี้ ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ทางวัดชนะสงคราม อันเป็นเขตวังหน้า กระจายมาจนถึงวัดบวรฯ มีถนนตานี (ของพวกปัตตานี) เป็นพยานอยู่บางลำพูทุกวันนี้ แล้วมีสุเหร่าใกล้ถนนข้าวสาร หลังอาคารถนนราชดำเนิน แขกมลายูปัตตานีพวกนี้ จะมีส่วนสำคัญให้เกิดลิเกต่อไปในรัชกาลที่ 5


ประเด็นข้อพิจารณา

1 จากหนังสือเรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม 1 ของกรมศิลปากร ซึ่งเป็นการตรวจสอบชำระหนังสือ เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ พระนิพนธ์พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระสมมตอมรพันธุ์ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ ฉบับพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ พระสังฆราชเจ้าโปรดให้พิมพ์ครั้งแรก ในปีพ.ศ. 2466 ได้กล่าวถึง สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)ไว้ดังนี้

สมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดระฆัง นามเดิมว่า โต นามฉายาว่า พรหมรังสี เกิดในรัชกาลที่ 1 เมื่อ ณ วันพฤหัุส เดือน 5 ขึ้น 12 ค่ำ ปีวอก จุลศักราช 1150 พ.ศ. 2331 บวชเป็นสามเณรในรัชการที่ 1 พระบวรวิริยเถร (อยู่) อยู่วัดสังเวชวิศยารามเป็นพระอุปัชฌาย์

จากภาพวาดที่ผนังฝาโบสถ์วัดอินทรวิหาร ภาพที่ 5 ที่นายพร้อม สุดดีพงศ์ ได้จดบรรยายไว้ "อีกตอนหนึ่งมีภาพ พระสงฆ์นั่งอยู่บนกุฏิ เขียนบอกข้างล่างว่า เจ้าขรัวบางลำพู กับมีบุรุษและสตรีอีก 3-4 คน เดินอยู่ข้างล่าง"

เจ้าขรัวบางลำพู หมายถึง เจ้าอาวาสวัดสังเวชวิศยาราม เดิมชื่อ วัดสามจีนเหนือ ต่อมาเรียกชื่อ วัดบางลำพู ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า วัดบางลำพูบน (ส่วนวัดบางลำพูล่าง คือ วัดเศวตฉัตร ) ภาพที่มีเด็กบุญเรืองอยู่ในเบาะ นายผลกับแม่งุดกำลังหมอบกราบ ก็คือ พระบวรวิริยเถร (อยู่) นั่นเอง

 จากภาพวาดที่ผนังฝาโบสถ์ที่วัดอินทรวิหาร ภาพที่ 5 ที่นายพร้อมได้จดบรรยายไว้ "มีภาพโบสถ์และศาลา ที่มุมมีเด็กนอนอยู่ในเบาะ เขียนชื่อว่า เด็กบุญเรือง บุตรนายผล กับตัวนายผลกับแม่งุด กำลังหมอบกราบอยู่ข้างๆเด็กนั้น"  อีกตอนหนึ่ง เป็นภาพทหาร 2 คน เดินนำหน้าแม่ทัพขี่ม้าขาว และมีทหารเดินตามหลังอีกหลายคน มีหนังสือเขียนไว้ว่า "กรุงกำแพงเพชร"

นี่คือภาพวาดที่สมเด็จโตให้วาดไว้เกียวกับประวัติของท่าน เด็กที่นอนบนเบาะชื่อบุญเรือง น่าจะมีเหตุการณ์อะไรสักอย่าง พ่อและแม่เด็กจึงตั้งชื่อให้ดังนั้นว่า "บุญเรือง" คำว่า "โต"  อาจมีความหมายว่าเป็นลูกคนโตหรือรูปร่างท่าน "โต" ก็ได้

ท่านขึ้นไปกำแพงเพชร เมื่อปีพ.ศ. 2392 เพื่อเผาศพ "ป้า"ของท่าน ป้ามี 2 ความหมาย หนึ่งเป็นพี่ของพ่อ  สองเป็นพี่ของแม่ ป้าที่ท่านขึ้นไปงานศพนั้น ชื่อท่านผู้หญิง "แพง" ซึ่งป้าคนที่สองชื่อ ท่านผู้หญิง "พลับ" คนที่สามเป็นน้องชายชื่อ พระยาฤทธิเดช ก่อนเป็นพระยาน่าจะชื่ออะไร แพง พลับ ผล ควรเป็นชื่อของสามพี่น้องใช่ไหม 

2 ข้อมูลจากหนังสือชุดพระเกียรติคุณ สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศร๊) วัดระฆังโฆษิตาราม เหตุการณ์สำคัญเรื่องหนึ่ง คือ การชำระสะสางสังฆมณฑล ซึ่งยังสับสนวุ่นวายอยู่เป็นอันมาก โดยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ได้โปรดให้ตรากฎพระสงฆ์ขึ้น สำหรับใช้เป็นแบบแผนบริหารการคณะสงฆ์ นับเป็นกฎหมายคณะสงฆ์ฉบับแรกในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ หากพิจารณาดูจากความในกฎพระสงฆ์ทั้ง 38 ข้อที่ออกมานั้น ก็จะเห็นได้ว่า สังฆมณฑลยุคนั้นสับสนวุ่นวายเพียงไร ข้อที่ 16 " ผูกพันเรียกฆราวาสชายหญิง เป็นพ่อเป็นแม่ เคารพนบนอบอย่างว่าทาส" อาจด้วยเหตุนี้  สมเด็จโต จึงได้จารึกชื่อ โยมพ่อไว้ว่า "นายผล"

 พระยากำแพงเพชร (บัว) ไปราชการทัพเวียงจันทร์ กลับมาอนิจกรรมในปีนั้น ข้อมูลประวัติศาสตร์ พ.ศ.2369
พระยาฯ (เถื่อน)รับราชการ 16 ปีเศษ ถึงแก่อนิจกรรม พ.ศ.2385
พระยาฯ (น้อย) รับราชการ 15 ปี ถึงแก่อนิจกรรม พ.ศ.2385-2400 ซึ่งข้อมูลนี้ตรงกับประวัติที่สมเด็จโตขึ้นไปเผาศพป้าในปีพ.ศ.2392 แล้วพบศิลาจารึกที่วัดเสด็จและบอกให้พระยากำแพงเพชร (น้อย)ไปถากถางป่า จึงได้พบพระมหาธาตุเจดีย์และพระเครื่องมากมาย

3 จากข้อมูลหนังสือเรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ฯ "กล่าวกันว่า เมื่อท่านเป็นสามเณรเทศน์ไพเราะนัก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระเมตตา ครั้นอายุครบอุปสมบท เมื่อปีมะโรง พ.ศ. 2350 ทรงพระกรุณาโปรดให้บวชเป็นนาคหลวงที่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จึงเรียกกันว่า พระมหาโต ตั้งแต่แรกบวชมา แต่ท่านไม่ปรารถนายศศักดิ์ เมื่อเรียนรู้พระปริยัติธรรมแล้ว ก็ไม่เข้าแปลหนังสือเป็นเปรียญ แลไม่รับเป็นฐานานุกรม แต่เป็นนักเทศน์ที่มีชื่อเสียง ทรงคุ้นเคยมาทั้งในรัชกาลที่ 2 แลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จะทรงตั้งเป็นพระราชาคณะ ท่านทูลขอตัวเสีย คงเป็นแต่พระมหาโตตลอดมา บางคนก็เรียกว่า ขรัวโต เพราะท่านจะทำอย่างไร ก็ทำตามความพอใจของท่าน ไม่ถือตามความนิยมของผุ้อื่นเป็นใหญ่ ถึงรัชกาลที่ 4 ทรงทราบว่า คุณธรรมของท่านยิ่งหย่อนเพียงใร จึงทรงตั้งเป็นพระราชาคณะ ซึ่งท่านก็ไม่ขัด

 สมเด็จโต ท่านคงเป็นเด็กอัจฉริยะมาตั้งแต่เกิด พ่อและแม่จึงให้ชื่อว่า "บุญเรือง"  ร.1 จึงโปรดให้บวชที่วัดพระแก้ว  ร.2จึงพระราชทานเรือกราบกันยาให้ ร.3จะตั้งให้เป็นพระราชาคณะ แต่ท่านก็ขอตัว 

 ร.4 ทราบดีถึงคุณธรรมของท่านว่าเพียงใด จึงตั้งให้เป็นพระราชาคณะจนถึง สมเด็จพระพุฒาจารย์ 

ในสมัยร.5 ท่านมีอาวุโสสูงสุด เพราะท่านเกิดปีพ.ศ.2331 สมเด็จพระสังฆราชกรมพระปรมานุชิตชิโนรส สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่7 ในสมัยร.4 ประสูติ 11 ธันวาคม พ.ศ.2333 ผนวชเป็นสามเณรเมื่อพระชันษาได้12ปี เมื่อปีพ.ศ.2345 สิ้นพระชนม์  9ธันวาคม พ.ศ.2396   ร.5ขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 1ตุลาคม พ. ศ.2411 สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่8 คือสมเด็จพระสังฆราชกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ประสูติ 14กันยายน พ.ศ.2352   ดังนั้นการที่สมเด็จโตได้ขึ้นถวายปฐมเทศนาในวันที่ร.5ขึ้นครองราชย์ เป็นเรื่องที่สมควรและเหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง มิได้มีความหมายถึงกุลสัมพันธ์แต่อย่างใด

4 คำราชาศัพท์ที่ใช้เกี่ยวกับคำว่าตาย มีดังนี้

ทิวงคต ใช้แก่พระยุพราชหรือเจ้าฟ้า ซึ่งได้รับการเฉลิมพระยศพิเศษ

สิ้นพระชนม์ ใช้แก่ เจ้าฟ้า พระองค์เจ้า สมเด็จพระสังฆราชเจ้าและสมเด็จพระสังฆราช

ถึงชีพิตักษัย ใช้แก่ หม่อมเจ้า

ดังนั้น การที่สมเด็จพระสังฆราชกรมพระยาปวเรศฯ ใช้คำว่า สมเด็จโต ถึงชีพิตักษัย ก็สมควรยิ่งแล้ว มิได้มีนัยว่าท่านมีความสัมพันธ์ในเชื้อพระวงศ์แต่ประการใด

5 จากประวัติภาพวาดที่ปรากฎที่ผนังโบสถ์วัดอินทรวิหาร ภาพเด็กบุญเรือง นายผลแม่งุด กรุงกำแพงเพชร ประวัติของคนในตระกูลพระยากำแพงเพชร ที่เล่าถึงสมเด็จโตขึ้นไปกำแพงเพชรเพื่อเผาศพป้าของท่านชื่อท่านผู้หญิงแพง และมีน้องสาวคือท่านผู้หญิงพลับ และน้องชายคือพระยาฤทธิเดชนั้น หากว่าชื่อผล ก็เป็นไปได้อย่างยิ่ง แพง พลับ ผล นอกจากนี้กฎหมายสมัยร.1 ห้ามภิกษุผูกพันธ์เรียกโยมพ่อด้วยแล้ว สำหรับแม่ เป็นคำที่เรียกกันทั่วไปสำหรับผู้หญิงสมัยนั้น


ข้อสรุปสมเด็จโตเป็นลูกใคร


ดังนั้น สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต ) วัดระฆังโฆสิตาราม พ่อของท่านคือ นายผลหรือพระยาฤทธิเดช แม่ของท่านคือแม่งุด ปู่ของท่านคือพระยารามรณรงค์สงครามหรือพระยากำแพงเพชร (นุช) ย่าของท่านคือท่านผู้หญิง (กาวหรือเกา) แน่นอน นี่คือความจริงสมเด็จโต ที่ต้องบันทึกเอาไว้






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น