การสร้างพระสมเด็จ

การสร้างพระสมเด็จ

๑ พระสมเด็จสร้างครั้งแรก พ.ศ. อะไร
๒ พระสมเด็จมีกี่พิมพ์
๓ พระสมเด็จมีเนื้อหามวลสารอย่างไร
๔ จำนวนพระสมเด็จฯที่สร้างขึ้น


ถ้าไปถามคนในวงการพระเครื่องว่า สมเด็จโตสร้างพระสมเด็จครั้งแรก เมื่อพ.ศ. อะไร เขาจะตอบกันว่า พ.ศ. ๒๔๐๙ เพราะเอาข้อมูลมาจากหนังสือ พระสมเด็จฯ ที่ ตรียัมปวาย ได้นิพนธ์เอาไว้ว่า

เมื่อปีพ.ศ.๒๔๕๗ เสวกโท พระอาทรภัทรพิสิฐ (เล็ก อุณหะนันท์) บ้านสถาพร บ้านอยู่หลังวัดปรินายก ( เมื่อตรงไปจนสุดถนน จะพบกับบ้านเก่าหลังหนึ่งที่ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ท่ามกลางอาคารพาณิชย์ในบริเวณนั้น ซึ่งแม้จะอยู่ในสภาพเสื่อมโทรม แต่ก็ยังคงเห็นความงดงามของลักษณะสถาปัตยกรรมแบบพาลาดิโอ ให้ได้เห็นกันอยู่ บ้านหลังนี้เดิมมีชื่อว่า " บ้านสถาพร" เป็นบ้านของ เสวกเอก พระยาเขื่อนเพ็ชร์เสนา (ทรัพย์ อุณหะนันทน์) เจ้ากรมพระตำรวจหลวง ครั้นเมื่อท่านเจ้าคุณสิ้นบุญในปีพ.ศ.๒๔๖๘แล้ว คุณหญิงเขื่อนเพ็ชร์เสนา (ส้มจีน) ก็รับภาระปกครองทรัพย์สมบัติและลูกหลานสืบต่อมา จนคุณหญิงถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๐ บ้านสถาพรหลังนี้ จึงตกเป็นของคุณอาจิต อุณหะนันทน์ บุตรชายคนโตของพระอาทรภัทรพิสิฐ (เล็ก อุณหะนันทน์) ซึ่งปัจจุบันถึงแก่กรรมแล้ว ปัจจุบันบ้านสถาพร ยังคงอยู่ในความดูแลของทายาทในสกุลอุณหะนันทน์--จากเพจ เรื่องเล่าของรอยใบลาน-สถาปัตยกรรมสยามในอดีต)



บ้านพระอาทรภัทรพิสิฐ ถนนวัดปรินายก


ได้เป็นผู้หนึ่งที่ได้สัมภาษณ์ พระธรรมถาวร ที่วัดระฆังฯและพระธรรมถาวรได้บอกว่า "เจ้าพระคุณสมเด็จฯได้เริ่มสร้างพระสมเด็จฯของท่านขึ้น เมื่อตัวเจ้าคุณพระธรรมถาวรบวชได้ ๒ พรรษา แล้ว"

ต่อมาในปีพ.ศ.2470 นายกนก สัชชุกร ขณะนั้นเป็นผู้ช่วยข้าหลวงตรวจการกระทรวงการคลัง ภาค 3 บ้านอยู่ในอำเภอเมือง นครราชสีมา อายุ 34ปี (ข้อมูลแจ้งว่าในปีพ.ศ.2510 อายุ 74 ปี เป็นนักพระเครื่องฯผู้เฒ่าที่มีความสันทัดจัดเจนและคงแก่เรียนในพุทธาคมและโหราศาสตร์) ท่านผู้นี้ได้เคยไปหา พระธรรมถาวรและได้บันทึกเรื่องราวการสร้างพระสมเด็จฯตลอดจนชีวประวัติบางประการของท่านเจ้าพระคุณสมเด็จไว้ว่า " การที่สมเด็จโต จะได้ดำริสร้างพระสมเด็จ ของท่านขึ้นนั้น เพราะเหตุว่า คราวหนึ่งท่านได้จาริกไปที่เมืองพระตะบอง และมี เจ้าเขมรองค์หนึ่ง ฃึ่งสนิทชิดชอบและเคารพเลื่อมใสในตัวท่าน ได้ปรารภขอให้ท่านสร้างพระเครื่องฯ ของท่านขึ้นไว้ เพื่อจะได้เอาไว้เคารพสักการบูชาป้องกันอันตรายต่างๆและทั้งเป็นเครื่องระลึกถึงท่านด้วย ดังนั้น ภายหลังที่สมเด็จโตกลับจากพระตะบอง ท่านจึงได้สร้างพระสมเด็จฯขึ้นเป็นครั้งแรก"

ปีพ.ศ.๒๔๗๐พระธรรมถาวร (ช่วง)มีอายุ ๘๔ ปี ท่าน เกิดเมื่อ วันจันทร์ ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 4 ปีเถาะ พ.ศ.2386 โยมบิดามารดา คือ นายขำและนางจันทร์ สิงหเสนี ชาวบ้าน ตำบลบางระมาด อำเภอตลิ่งชัน ธนบุรี เมื่ออายุ 13 ปี ในปีพ.ศ.2399 ได้บรรพชาเป็นสามเณรและมาเป็นศิษย์ศึกษาพระปริยัติธรรมกับสมเด็จโต สมัยครองสมณศักดิ์เป็นพระเทพกระวี อุปสมบท เมื่อวันพุธ แรม 10 ค่ำ  เดือน 7 ปีชวด พ.ศ. 2407 โดยสมเด็จโตเป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูปลัดสุวัฒน์สมณาจารย์เป็นพระกรรมวาจารย์ ณ วัดมณฑป แล้วย้ายมาอยู่วัดระฆังฯ  เมื่ออุปสมบทได้ 3 เดือนพระเทพกระวีได้รับพระราชทานแต่งตั้งเป็น สมเด็จพระพุฒาจารย์ ต่อมาปีพ.ศ. 2410 ได้เป็นพระธรรมรักขิต ฐานานุกรมในสมเด็จโต ท่านมรณภาพ เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2477 คำนวณอายุได้ 92 ปี พรรษา 70 พรรษา

ประเด็นที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งคือ สมเด็จโต ท่านสร้างพระเครื่องของท่านครั้งแรกในปีพ.ศ.อะไร เพราะพระธรรมถาวร (ช่วง) บอกว่าหลังจากท่านบวชมาแล้ว ๒ ปี ตีความได้ ๒ ทาง คือ บวชเณรหรือบวชพระ ถ้าบวชเณร ท่านบวชเณรปีพ.ศ.๒๓๙๙ สมเด็จโตสร้างพระครั้งแรกก็ปีพ.ศ.๒๔๐๑ ถ้าบวชพระ ท่านบวชพระปีพ.ศ.๒๔๐๗ สมเด็จโตสร้างพระครั้งแรกก็ปีพ.ศ.๒๔๐๙ อีกข้อมูลหนึ่งที่ต้องนำมาพิจารณาประกอบด้วยก็คือ พระธรรมถาวร ได้เล่าว่า " สมเด็จโตได้สร้างพระขึ้นเป็นครั้งแรกนั้น เพราะเจ้าเขมรที่สนิทชิดชอบและเคารพเลื่อมใสในตัวท่าน ได้ปรารถขอให้ท่านสร้างพระเครื่องฯของท่านขึ้นไว้ เพื่อจะได้เอาไว้เคารพสักการบูชาป้องกันอันตรายต่างๆและทั้งเป็นเครื่องระลึกถึงท่านด้วย ดังนั้น ภายหลังที่เจ้าพระคุณสมเด็จฯกลับจากพระตะบอง ท่านจึงได้สร้างพระสมเด็จฯขึ้นเป็นครั้งแรก"

ประเด็นนี้น่าสนใจมากว่า เจ้าเขมรองค์นี้คือใคร จากการเข้าไปค้นคว้าของผมในประวัติศาสตร์ช่วงนี้ เชื่อได้ว่าน่าจะเป็น นักองค์ด้วงหรือนักองค์ราชาวดี

พ.ศ. 2316 นักองค์เองประสูติ อายุ 7 พรรษา ได้ขึ้นครองราชย์ เหตุเพราะเกิดจลาจลในเขมร เมื่อขุนนางไม่พอใจนักองค์โนน ฃึ่งขึ้นครองราชย์ได้เพราะพระเจ้าตากสินทรงให้การสนับสนุน นักองค์โนนและพระราชโอรสถูกจับประหารชีวิต เจ้าฟ้าทะละหะ (มู) ได้ยกนักองค์เองขึ้นครองราชย์

พ.ศ. 2325 ออกญายมราช (แบน) ร่วมกับ ออกญากลาโหม (สู) ฆ่าเจ้าฟ้าทะละหะ (มู) ต่อมาทั้งสองแตกคอกัน ออกญายมราช (แบน)จึงฆ่าออกญากลาโหม (สู) แล้วตั้งตัวเป็นเจ้าฟ้าทะละหะ (แบน)

พ.ศ. 2334 นักองค์เองมีบุตรชื่อ นักองค์จัน

พ.ศ. 2336 เจ้าฟ้าทะละหะ (แบน) แพ้ออกญามหาเทพ เจ้าเมืองตโมงฆนุม ที่นำทัพชาวจามเข้ามาตีพนมเปญ จึงพานักองค์เองหนีเข้ามากรุงเทพ ร.1โปรดรับนักองค์เองเป็นราชบุตรบุญธรรม ให้สร้างตำหนักถวายที่ตำบลคอกกระบือ (แม้จะมีหลักฐานแต่เดิมว่า เจ้านายเขมรนั้นพระราชทานที่ดินให้อยู่แถบตำบลคอกกระบือหรือแถบวัดยานนาวา ต่อมาราวพ.ศ.2329 จึงสร้างวังพระราชทานให้ที่ริมคลองเมืองเยื้องปากคลองหลอด วัดราชนัดดา ฝั่งตรงข้ามวัดสระเกศ ซึ่งอยู่ภายในพระนคร ที่เรียกว่า วังเจ้าเขมร) ส่วนออกญายมราช (แบน) ได้เป็นเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) ในขณะที่นักองค์เองลี้ภัยอยู่กรุงเทพ เวียตนามได้เข้าไปมีอำนาจในเขมร ร.1จึงโปรดให้เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองเขมร ที่พระตะบอง รบกับเวียตนามจนได้รับชัยชนะ ตั้งเมืองหลวงที่เมืองอุดงค์มีชัยหรือเมืองบันทายเพชร

พ.ศ. 2337 ร.1 โปรดให้นักองค์เองผนวช เมื่อลาสิกขาแล้ว จึงให้ออกไปครองกัมพูชา โดยให้ออกญากลาโหม (ปก) พระพี่เลี้ยงเป็น เจ้าฟ้าทะละหะ (ปก) ส่วนเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) ให้ครองพระตะบองและเสียมราฐ ขึ้นตรงต่อสยาม


พ.ศ.2339 นักองค์เองมีบุตรอีกคนคือ นักองค์ด้วงหรือสมเด็จพระหริรักษ์ฯ แต่นักองค์เองครองราชย์ได้ไม่นาน ก็ประชวรและสิ้นพระชนม์ในปีพ.ศ. 2339

พ.ศ.2345 นักองค์จัน ได้รับการสนับสนุนจากสยามให้ขึ้นครองราชย์ เมื่อพระชนมายุได้ 11 ชันษา ในเวลาเดียวกันนี้ จักรพรรดิ์ยาลอง ได้รวบรวมเวียตนามให้เป็นปึกแผ่นได้สำเร็จ นักองค์จันทร์จึงหันไปดำเนินนโยบายใกล้ชิดกับราชสำนักเว้ หลังจากร.1เสด็จสวรรคต นักองค์จันทร์มีข้อบาดหมางกับราชสำนักสยาม ตัวแทนราชสำนักกัมพูชาที่มาร่วมงานพระบรมศพ ร.1และแสดงความฝักใฝ่ต่อสยาม 2 คน ถูกประหารชีวิตและยังจัดตั้งกองกำลังรักษาพระองค์เป็นชาวกำพูชาเชื้อสายเวียตนาม

พ.ศ. 2354 - 2355 เกิดความขัดแย้งระหว่างตัวแทนสยามกับญวนในเขมร ฝ่ายสยามสนับสนุนนักองค์ด้วง-อนุชานักองค์จันทร์ เมื่อมีความขัดแย้ง พระอนุชา 3คน จึงหนีไปสยาม ทำให้นักองค์จันทร์หันไปนิยมญวนมากขึ้น มีการเกณฑ์แรงงานชาวเขมรไปทำงานให้ญวนมากขึ้น ทำให้ชาวเขมรเริ่มไม่พอใจ

พ.ศ.2355 นักองค์ด้วงพระชนมายุ 16 ปี หนีเข้ากรุงเทพฯ โดยมาพัก ณ วังเจ้าเขมร ตำบลคอกกระบือ (แม้จะมีหลักฐานแต่เดิมว่า เจ้านายเขมรนั้น พระราชทานที่ดินให้อยู่แถบตำบลคอกกระบือหรือแถบวัดยานนาวา ต่อมาราว พ.ศ.2329 จึงสร้างวังพระราชทานให้ที่ริมคลองเมืองเยื้องปากคลองหลอด วัดราชนัดดา ฝั่งตรงข้ามวัดสระเกศ ซึ่งอยู่ภายในพระนครที่เรียกว่า วังเจ้าเขมร..... ) ซึ่งเป็นวังที่พระบิดา-นักองค์เองเคยพำนักอยู่

พ.ศ.2377 นักองค์ราชาวดี เสด็จพระราชสมภพที่เสียมราฐ ทรงเป็นโอรสของนักองค์ด้วง

พ.ศ. 2382 นักองค์ด้วง พระชนมายุได้ 43 ปี หลังจากอยู่ในไทยได้ 27 ปี ในรัชสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จึงได้เดินทางกลับเขมรพร้อมกับกองทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เพื่อรบกับญวนที่กำลังแผ่อำนาจเข้าสู่เขมรในช่วงนั้น โดยร.3มีพระบรมราชโองการว่า " หากเขมรสงบเรียบร้อยเมื่อใด ให้อภิเษกพระองค์ด้วงขึ้นครองเขมร" (นักองค์ด้วงอยู่ไทย 27ปี ตั้งแต่อายุ 16ปี สมเด็จโตอายุ 24ปี จนนักองค์ด้วงอายุ 43ปี สมเด็จโตอายุ 51ปี)

พ.ศ.2390 นักองค์ด้วงพระชนมายุ 51พรรษา นักองค์ด้วงก็ขึ้นครองราชสมบัติ มีพระนามว่า "พระหริรักษ์รามาธิบดี" โดยสมเด็จพระนั่งเกล้าฯมีพระบรมราชโองการว่า "หากเขมรสงบเรียบร้อยเมื่อใด ให้อภิเษกนักองค์ด้วงขึ้นครองเขมร" ดังนั้น เมื่อกองทัพของเจ้าพระยาบดินทรเดชา จัดการเหตุการณ์ในเขมรเรียบร้อยแล้ว โดยใช้เวลาถึง 8 ปี จึงมีการอภิเษกนักองค์ด้วงขึ้นเป็นกษัตริย์ เมื่อวันพุธที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2390 เมื่อนักองค์ด้วงขึ้นครองราชย์เป็นเจ้าเขมรแล้ว ได้ส่งนักองค์ราชาวดี เข้ามาทำราชการที่กรุงเทพฯ ในสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ

พ.ศ.๒๓๙๗ เมื่อนักองค์ราชาวดีพำนักในกรุงเทพฯ พระองค์มีสถานะเป็นพระราชบุตรบุญธรรมของกษัตริย์สยามและได้บวชในธรรมยุติกนิกาย ๑ พรรษา ที่วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร 

พ.ศ.2398 การทำสนธิสัญญาเบาริ่ง สยามเริ่มปะทะกับตะวันตกมากขึ้น

พ.ศ.2399 ด.ช.ช่วง สิงหเสนี อายุได้ 13ปี บรรพชาเป็นสามเณรและมาเป็นศิษย์ศึกษาพระปริยัติธรรมกับเจ้าพระคุณสมเด็จฯ สมัยที่ครองสมณศักดิ์เป็นพระเทพกวี

พ.ศ.2400 ในสมัยสมเด็จพระจอมเกล้าฯ นักองค์ด้วงมีใบบอกเข้ามายังกทม.ว่า "ตนมีพระชนมายุเจริญล่วงมากไปแล้ว ขอพระราชทานให้พระเจ้าแผ่นดินสยาม ทรงตั้งนักองค์ราชาวดี บุตรผู้ใหญ่เป็นมหาอุปราช นักองค์ศรีสวัสดิ์ (บุตรที่ 2) เป็นพระแก้วฟ้า ออกไปช่วยรักษาเมืองเขมร" สมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงพระกรูณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้นักองค์ราชาวดีและนักองค์ศรีสวัสดิ์ ตามที่นักองค์ด้วงทรงขอมาเมื่อพ.ศ. ๒๔๐๐

พ.ศ.2400 จากหนังสือ อุตตริมนุสสธรรม ของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) โดย เทพ สุนทรศารทูล ได้เขียนไว้ว่า " เมื่อพ.ศ.2400 พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะแสดงความโปรดปรานพระเจ้าแผ่นดินเขมรเป็นพิเศษ จึงได้จัดส่งสมเด็จพระพูฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ให้ลงเรือกัญญาหลังคาแดง ไปเทศน์โปรดสมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดี (นักองค์ด้วง)"

พ.ศ.2401 พระอาทรภัทรพิสิฐ ได้บันทึกเรื่องการสัมภาษณ์ พระธรรมถาวร เป็นความต่อไปว่า "เจ้าคุณธรรมถาวร ได้บอกว่า เจ้าพระคุณสมเด็จฯได้เริ่มสร้างพระสมเด็จฯของท่านขึ้น เมื่อตัวเจ้าคุณ พระธรรมถาวรบวชได้ 2 พรรษาแล้ว"และนายกนก สัชชุกร ได้สัมภาษณ์พระธรรมถาวรเช่นกัน ได้เล่าว่า " สมเด็จโตได้สร้างพระเครื่องขึ้นเป็นครั้งแรกเพราะเจ้าเขมรซึ่งสนิทชิดชอบและเลื่อมใสในตัวท่านได้ปรารถขอให้ท่านสร้างพระเครื่องฯของท่านขึ้น......." ดังนั้นสมเด็จโตน่าจะสร้างพระเครื่องขึ้นครั้งแรกในปีพ.ศ. ๒๔๐๑ นี้

พ.ศ. 2403 นักองค์ด้วงเสด็จสวรรคต ที่กรุงอุดงด์ จากบทความนิยาย เวียงวัง ตอนที่ 212:พระองค์ด้วง ได้บันทึกไว้ดังนี้

เรื่องของสมเด็จพระหริรักษ์รามาอิศราธิบดีหรือนักองค์ด้วง ที่คนไทยสมัยรัชกาลที่2 และ3 เรียกอย่างสนิทสนมใจเสมือนเป็นเจ้านายไทยว่า พระองค์ด้วงนั้น มีเรื่องราวน่าเล่าน่ารู้หลายอย่าง

พระองค์ด้วงออกไปเขมร ช่วยเจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์)รบกับญวน เป็นเวลานานถึง 10ปี เจ้าพระยาบดินทร์ฯไปก่อนจึงอยู่ในเขมรถึง 15ปี เมื่อเลิกรบกับญวน อภิเษกขึ้นครองราชย์นั้น ชนมายุเข้า 52 ปีแล้ว (พ.ศ.2390)

โดยเหตุที่เจริญวัยขึ้นในราชสำนักไทย ได้รับใช้ใกล้ชิดพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯมานานช้า เมื่อเสด็จกลับไปครองราชย์ หลังจากเขมรว่างกษัตริย์ ตกอยู่ในอำนาจญวน เกิดกบฏวุ่นวายเป็นเวลานานกว่า 10 ปี ตั้งแต่สมเด็จพระอุไทยราชา (นักองค์จันทร์ พี่ชายใหญ่ของนักองค์ด้วง) เสด็จทิวงคตพ.ศ.2377 ดังนั้น การปกครองแผ่นดินของพระองค์ด้วง จึงมักมีแบบอย่าง อันนำไปจากกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการดำเนินตามพระราชอัธยาศัยในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ หลายอย่างหลายประการ โดยเฉพาะพระราชศรัทธา ในพระพุทธศาสนา เป็นต้นว่า

ข้อ 1 ห้ามมิให้บุคคลใดกระทำโป๊ะจับปลา ตามบึง บางห้วย หนองหรือตามแม่น้ำลำคลองเป็นอันขาด ด้วยเป็นการกระทำปาณาติบาตอย่างใหญ่โต
ข้อ๑ ห้ามบรรดาข้าราชการขุนนางใหญ่น้อย ซึ่งเป็นข้าของพระองค์ทุกคน มิให้เสพสุราเครื่องดองของเมา ซึ่งเป็นการชั่วเป็นอันขาด
ข้อ๑ ในเวลาที่เสด็จไป ณ ที่ใดๆก็ดี ห้ามบรรดาข้าราชการที่ตามเสด็จ มิให้ยิงนกยิงสัตว์ใดๆเป็นอันขาด
ข้อ๑ บรรดาคดีความทั้งแพ่งและอาญา ซึ่งผู้พิพากษาตระลาการชำระตัดสิน หากโจทย์และจำเลยไม่ยินยอมตามคำตัดสินของศาลแล้ว ทรงพระกรุณาให้โจทย์หรือจำเลยทำฏีกาขึ้นถวายต่อพระองค์เองได้ ซึ่งพระองค์จะทรงพยายามพิจารณาและตัดสินให้ยุติธรรมที่สุดที่จะเป็นไปได้
ข้อ๑ โปรดให้ทำโรงทานและให้ทานแก่ยาจกวณิพกคนยากจนที่ขัดสนมาแต่สารทิศทั้ง๔ ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์และทรงพระกรุณาให้จ่ายพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นไทยทานถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ สามเณร ให้อิ่มหนำสำราญกันทั่วทุกสารทิศ

ข้อสุดท้ายนี้ เห็นได้โดยชัดเจนว่า พระองค์ด้วงดำเนินตามรอยพระบาท พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ตั้งแต่ครั้งที่สมเด็จพระนั่งเกล้าฯยังทรงพระยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นฯในรัชกาลที่ ๒ อันทำให้แม้สมเด็จพระบรมชนกนาถ รัชกาลที่ ๒ ก็ยังทรงพลอยปีติโสมนัส โปรดฯให้ตั้งโรงทานของหลวงขึ้นด้วย

อีกข้อหนึ่งนั้น คือ ข้อที่ทรงห้ามขุนนาง ข้าราชการ เสพสุรายาเมา อันเป็นศีลข้อหนึ่งในพระพุทธศาสนานั้น เล่าอย่างยืนยันกันมาหนักแน่นว่า ร.๓นอกจากไม่โปรดละครแล้ว ยังทรงรังเกียจน้ำจัณฑ์ (สุรา)และทรงรังเกียจคนดื่มสุรา เพราะฉะนั้นจึงทรงรังเกียจสุนทรภู่ ในข้อที่ขี้เมามาแต่ในแผ่นดินร.๒ มิใช่เรื่องที่สุนทรภู่ หักหน้าหน้าพระที่นั่ง เพียงอย่างเดียว ซึ่งข้อนี้ไม่เคยมีผู้พูดถึง ด้วยส่วนมากพากันเห็นอกเห็นใจสุนทรภู่

นักองค์ด้วงครองราชย์อยู่ ๑๔ ปี ก็ทิวงคตในปีพ.ศ.๒๔๐๓ หลังร.๓ เสด็จสวรรคตแล้ว ๙ ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ในพระราชพงศาวดารกัมพูชา ซึ่งจอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ โปรดให้ นายพันตรี หลวงเรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนรัชต์) ผู้มีความรู้เชี่ยวชาญภาษาเขมรและภาษาไทยแปลและเรียบเรียงเมื่อพ.ศ.๒๔๖๐ จดเรื่องนักองค์ด้วงสวรรคตไว้ว่า

 "ฝ่ายสมเด็จพระหริรักษ์รามาอิศราธิบดี (นักองค์ด้วง) พระองค์ทรงพระประชวรมีพระอาการหนัก พระองค์ทรงพระคำนึงถึงการกุศล จึงมีพระราชดำรัสสั่งให้ ออกญาอิศรอักขรา เบิกเงินพระราชทรัพย์ไปช่วยไถ่คนชายหญิงที่เป็นข้าเขาปล่อยให้เป็นไท ได้รอดจากความทุกข์ยาก ประมาณ ๑๐๐คนเศษ สิ้นเงินพระราชทรัพย์ ๗๐๐แน่น"

ทว่าประการหลังที่ทรงสั่งไว้ดูจะทรงมีศรัทธาล้ำเกินออกไปนัก คือทรงสั่งว่า "ถ้าพระองค์สิ้นพระชนม์ชีพลงเมื่อใด ให้แล่พระมังสัง (เนื้อติดโลหิต) ของพระองค์พระราชทานให้เป็นทานแก่แร้งกา แลสรรพสัตว์ทั้งหลายบริโภคเป็นภักษาหารตามความพอใจ"

ดังนั้น เมื่อเสด็จทิวงคตแล้ว นักองค์ราชาวดี ผู้ขึ้นเสวยราชย์เป็น สมเด็จพระนโรดมฯ (ที่๑) โอรสองค์ใหญ่ของนักองค์ด้วง พร้อมทั้งพระบรมวงศ์และขุนนาง จึงพร้อมใจกันปฏิบัติตามที่ได้รับสั่งเอาไว้ แต่การแล่พระมังสานั้น กระทำพอเป็นพิธีบุญ คือแล่พอสมควร ประดิษฐานบนพานเงิน นำไปให้ทานแก่สัตว์จตุบาทบ้าง ทวิบาทบ้าง ได้รับพระราชทานบริโภคจนหมด

จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นน่าจะเพียงพอที่จะยืนยันได้ว่า เจ้าเขมรที่สนิทชิดชอบและเคารพเลื่อมใสในสมเด็จโตนั้น น่าจะเป็น เจ้าเขมรองค์ที่ชื่อว่า นักองค์ด้วง ซึ่งสมเด็จโตได้ขึ้นไปพบเมื่อปีพ.ศ.๒๔๐๐และได้กลับมาสร้างพระเครื่องของท่านขึ้นเป็นครั้งแรกในปีพ.ศ.๒๔๐๑ หลังจากพระธรรมถาวร (ช่วง)บวชเณรแล้ว ๒ปี

พ.ศ.๒๔๐๓ นักองค์ราชาวดีขึ้นครองราชย์ หลังจากที่โดนน้องชายต่างมารดาและลุงคือ สนองสู จ้องและได้ทำการแย่งบัลลังก์ แต่ด้วยความช่วยเหลือจากทางสยามจึงได้ครองราชย์สำเร็จ

พ.ศ.๒๔๐๖ ในช่วงก่อนหน้าปีพ.ศ.๒๔๐๖นั้น ฝรั่งเศสได้เข้ามามีอำนาจในดินแดนแถบอินโดจีนหรือญวนมากขึ้น และได้เข้ามาบีบบังคับโดยใช้กำลังทั้งทางกองทัพเรือและทางการทูต ให้นักองค์ราชาวดียอมให้อำนาจแก่ฝรั่งเศส ในการเข้ามาปกครองและให้เขมรเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศสโดยให้นักองค์ราชาวดียังเป็นกษัตริย์อยู่ หลังจากที่ฝรั่งเศสดำเนินนโยบายแข็งกร้าว ในการยึดครองดินแดนเวียตนาม พลเรือเอก เดอ ลากรองดิแยร์ ข้าหลวงอินโดจีนฝรั่งเศสได้เข้ามาติดต่อกัมพูชาอีกครั้ง เพื่อให้เขมรเป็นดินแดนในอารักขาฝรั่งเศส นักองค์ราชาวดีได้ตกลงใจทำสนธิสัญญาดังกล่าวในวันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๐๖ และนักองค์ราชาวดีได้ทำหนังสือกราบทูลร. ๔ ว่าถูกฝรั่งเศสบังคับให้ทำสัญญา สยามได้พยายามรักษาสิทธิของตนเหนือกัมพูชา โดยทำสนธิสัญญาลับสยาม-กัมพูชา เมื่อ ๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๐๖ เพื่อยืนยันสิทธิของสยามเหนือกัมพูชา นักองค์ราชาวดีได้ยินยอมลงนามในสนธิสัญญานี้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อฝรั่งเศสทราบถึงการทำสนธิสัญญาลับสยาม-กัมพูชา ก็ได้เข้ามาคัดค้านและเจรจาเพื่อขอยกเลิกสนธิสัญญา

พ.ศ.๒๔๐๗ พระธรรมถาวรบวชพระหรืออุปสมบท โดยเจ้าพระคุณสมเด็จโตเป็นพระอุปัชฌาย์

จากสมณสาสน์การเมือง กัมพูชา-สยาม-ฝรั่งเศส ของพระอมราภิรักขิต (อมโร เกิด)ถึงสมเด็จพระสุคนธาธิบดี (ปาน) พระสังฆราชเมืองเขมร โดยอาจารย์ ดร. ศานติ ภักดีค่ำ สาขาวิชาภาษาเขมร ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวถึง พระราชหัตถเลขาที่ร.๔ ทรงมีไปถึง นักองค์ราชาวดี ณ กรุงกัมพูชา เมื่อวันจันทร์ เดือน๕ แรม๔ค่ำ ปีชวดพ.ศ.๒๔๐๗ เรื่อง นักองค์ราชาวดีเตรียมรับเสด็จที่เมืองกำปอดและเรื่องการอภิเษกนักองค์ราชาวดีเป็นเจ้ากรุงกัมพูชา และพระราชหัตถเลขาที่ร.๔ ถึงนักองค์ราชาวดี เมื่อวันอังคาร เดือน ๖ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีฉลู พ.ศ.๒๔๐๘ ทรงหารือลักษณะที่จะใช้คำสรรพนามในพระราชหัตถเลขาให้สมด้วยยศศักดิ์ของนักองค์ราชาวดี

อาจารย์ดร.ศานติ ได้นำเสนอภูมิหลังของพระอมราภิรักขิต (อมโร เกิด)และสมเด็จพระสุคนธาธิบดี (ปาน) เพื่อให้เข้าใจว่าเหตุใดพระสงฆ์ผู้ใหญ่สองท่านจึงรู้จักและสนิทสนมกันพอที่จะมีสมณสาสน์ไปถามข่าวคราวการเมืองในเขมร เพราะทั้งสองท่านเป็นศิษย์พระภิกษุวชิรญาณ (รัชกาลที่๔) เมื่อทรงจำพรรษาอยู่ที่วัดบรมนิวาส โดยพระอมราภิรักขิต เป็นพระเถระในคณะธรรมยุตมาตั้งแต่ตั้งธรรมยุกตินิกายและจำพรรษา ณ วัดบรมนิวาส สอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค ในสมัยร.๓ ได้เป็นพระปลัดเกิดเดินทางไปลังกา เมื่อร.๔ขึ้นครองราชย์ ท่านได้เป็นเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส สำหรับ สมเด็จพระสุคนธาธิบดี เดิมชื่อ ปาน เป็นพระสงฆ์ชาวเขมร ที่เดินทางมาศึกษาในกรุงเทพฯ ได้เป็นศิษย์พระภิกษุวชิรญาณ (ร.๔) เมื่อทรงจำพรรษาอยู่ที่วัดบรมนิวาส ต่อมาสอบความรู้เป็น พระมหาปาน ได้เดินทางกลับเขมร เพื่อเผยแพร่ธรรมยุติกนิกายในเขมรตามที่นักองค์ด้วงได้ขอพระราชทานร. ๔ นี่คือเหตุผลที่ทำให้ทั้ง ๒ รูปคุ้นเคยกันมาแต่เดิมและมีความสัมพันธ์กันต่อมา

พ.ศ.๒๔๐๘ กงศุลฝรั่งเศสชื่อนายโอบาเรต์ พยายามอย่างยิ่งยวดที่จะทำให้สัญญาลับฉบับนี้เป็นโมฆะ เพื่อให้รวดเร็วขึ้น ฝรั่งเศสส่งเรือรบชื่อ มิตราย เข้ามาข่มขู่ในน่านน้ำเจ้าพระยา ในที่สุดเจ้าพระยากลาโหม (ช่วง บุนนาค) จำยอมลงนามในสัญญากับฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๐๘ สาระสำคัญมีเพียง ๔ ข้อ แต่ก็เพียงพอที่จะทำให้เขมรและสยามขาดกันโดยเด็ดขาด คือ
๑ พระเจ้าแผ่นดินไทยยอมรับว่า เขมรตกเป็นรัฐในอารักขาฝรั่งเศส
๒ สัญญาลับระหว่างสยามกับเขมรเป็นโมฆะ
๓ อาณาจักรเขมรเป็นอิสระ อยู่ระหว่างดินแดนในครอบครองของฝรั่งเศสและสยาม
๔ เขตแดน เมืองพระตะบอง นครเสียมราฐ และเมืองลาวของสยาม ซึ่งติดต่อเขตแดนเขมร ฝรั่งเศสยอมรับให้คงอยู่กับสยามต่อไป

พ.ศ. ๒๔๐๙ ที่คนในวงการพระเครื่องต่างเชื่อถือข้อมูลที่ปรากฎในหนังสือพระสมเด็จฯ ที่ตรียัมปวายได้นิพนธ์ขึ้น ว่าสมเด็จโตได้สร้างพระเครื่องของท่านขึ้นในปีนี้ เพราะพระธรรมถาวรบวชได้ ๒ปี เพราะไม่ได้สืบค้นต่อว่าเจ้าเขมรคนใดที่สนิทชิดชอบและเลื่อมใสในตัวท่าน นักองค์ด้วงเกิด 2339 สมเด็จโต 2331 นักองค์ด้วงมาไทยอายุ 16 ปี พ.ศ.2355 สมเด็จโตอายุ 24 ปี นักองค์ด้วงอยู่เมืองไทยที่วังเจ้าเขมรนานถึง 27 ปี ถึงกลับเขมรตอนอายุ 43ปี พ.ศ. 2382 สมเด็จโตอายุ 51ปี น่าจะคุ้นเคยกันในช่วงนี้ นักองค์ด้วงอายุ 51 ปีในปีพ.ศ.2390
 ขึ้นเป็นกษัตริย์ สมเด็จโตอายุ 59 ปี นอกจากนี้พิจารณาจากประวัติของท่าน นักองค์ด้วงเลื่อมใสในพุทธศาสนาอย่างยิ่ง สำหรับ นักองค์ราชาวดีมาอยู่เมืองไทยปีพ.ศ.๒๓๙๐ อายุ ๑๓ ปี / พ.ศ.๒๓๙๗ อายุ ๒๐ ปี บวชวัดบวรฯ /พ.ศ.๒๔๐๐ กลับเขมร/พ.ศ.๒๔๐๗-๒๔๐๙ ไม่มีนัยอะไรที่บ่งบอกเลยว่า สนิทสนมและเลื่อมใสในสมเด็จโต และสมเด็จโตได้เดินทางไปพระตะบองในช่วงปีพ.ศ.นี้ นอกจากนี้ยังมีเหตุผลอื่นประกอบอีกด้วยว่า สมเด็จโตสร้างพระเครื่ิองของท่านครั้งแรกคือในปีพ.ศ. ๒๔๐๑

นั่นคือจากหนังสือ ประวัติวัดไชโยและเข้าพรรษา๒ออกพรรษา แบบวัดมหาธาตุ พิมพ์ถวายพระภิกษุสามเณรเป็นที่ระลึก ในเทศกาลงานประชุมไหว้พระ สวดมนต์ ภายในพรรษา ประจำปี ที่วัดไชโย จังหวัดอ่างทอง โดยพระครูมหาพุทธพิมพาภิบาล (วร)  วัดไชโย อ่างทอง วันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ พิมพ์ที่โรงพิมพ์พระจันทร์ ท่าพระจันทร์ พระนคร ความว่า

นามผู้สร้างและปฏิสังขรณ์วัด วัดไชโยนี้ เดิมชื่อวัดไชโยเหมือนกัน เป็นวัดราษฎร์สามัญ หาได้มีชื่อเสียงอย่างใดไม่ และสืบไม่ได้ความว่าผู้ใดใครเป็นผู้สร้าง เพิ่งจะปรากฎเป็นวัดมีชื่อเสียงขึ้นเมื่อครั้ง สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆังมาสร้างพระพุทธรูปใหญ่ขึ้น ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงเทพมหานครนี้เอง

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) มาสร้างพระพุทธรูปใหญ่ขึ้นนั้น ได้ทำอยู่ ๒ คราว คือ คราวแรก สร้างเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่โตมาก วิธีก่อ ใช้สอดิน แต่แล้วก็พังลงเองในไม่ช้า ครั้งที่ ๒ ก่อเช่นนั้นเหมือนกัน แต่ยังไม่ทันเสร็จเรียบร้อยดี .................

ลำดับเจ้าอาวาสโดยย่อ แต่ก่อนวัดไชโยพระอารามหลวงนี้ จะมีเจ้าอาวาสมากี่องค์หาทราบไม่ มารู้แน่นอนได้ตอนที่ยกวัดไชโยขึ้นเป็นพระอารามหลวง คือในรัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าให้เจ้าพระยารัตนบดินทร (บุญรอด) มาเป็นแม่กองก่อสร้างพระพุทธรูปใหญ่ในพ.ศ. ๒๔๓๑นั้น ทรงพระราชดำริหาพระภิกษุผู้สามารถปกครองวัด ทรงเห็นความสามารถของพระมหาเกตุ เปรียญ ๓ประโยค วัดบรมวงศ์อิศรวรารามวรวิหาร (เดิมชื่อวัดทะเลหญ้า) จังหวัดกรุงเก่า ทั้งทรงคุ้นเคยอยู่ด้วย จึงทรงอาราธนาให้เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก พระราชทานสัญญาบัตรให้เป็น พระครูมหาพุทธพิมพาภิบาล ในปีที่ ๒ เมื่อทำการฉลองวัดเสร็จแล้ว ได้รับสถาปนาเป็นพระราชาคณะในนามเดิม แต่คนทั้งหลายคงเรียกกันว่า "ท่านเจ้าเกตุ" ตลอดมา ถึงพ.ศ.๒๔๔๑ ขอพระบรมราชานุญาตลาสิกขา รวมเวลาที่พระมหาพุทธพิมพาภิบาล (เกตุ) ครองวัดอยู่ ๑๐ปี นับเป็นเจ้าอาวาสองค์แรก

จากหนังสือ ประวัติและอภินิหาร พระสมเด็จพิมพ์ทรงไกเซอร์ ปีพ.ศ.๒๕๓๖ ผู้พิพากษา สำราญ ภู่แก้ว พันตำรวจเอก (พิเศษ)จำลอง ขำแป้ง ผู้เขียนและรวบรวม ได้บันทึกไว้ว่า

ส่วนวัดเกตุไชโยหรือพระสมเด็จเกตุไชโย จังหวัดอ่างทอง ก็เหมือนกัน ไม่มีชื่อ "เกตุ" รวมอยู่ด้วย ชื่อวัดจริงๆนั้น ชื่อว่า วัดไชโยวรวิหารหรือวัดไชโย ที่ชาวบ้านเรียกติดปากกันมาจนทุกวันนี้ว่า "วัดเกตุไชโย" เพราะตามประวัติที่เล่าสืบต่อกันมา ในสมัยนั้น เจ้าอาวาสวัดใดก็ตาม เมื่อมีสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเจ้าคุณแล้ว ชาวบ้านมักจะเรียกสรรพนามนำหน้าว่า "ท่านเจ้า" แล้วต่อด้วยชื่อจริงของท่านองค์นั้นๆ เช่นท่านเจ้ามา เป็นต้น (ตามคำบอกเล่าจากพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณธรรมกิตติ รองเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ องค์ปัจจุบัน) ในยุคสมัยที่ท่านเจ้าเกตุ ท่านเป็นเจ้าอาวาสครองวัดไชโยนั้น ท่านเป็นพระมหาเปรียญ ชาวบ้านจึงได้เรียกขานท่านว่า "ท่านเจ้าเกตุ" เพราะท่านมีสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ (ท่านเจ้าคุณ) ชาวบางกอกในสมัยนั้นมีความเคารพนับถือท่านมาก มักพากันเดินทางไปนมัสการท่านอยู่เสมอโดยทางเรือและต้องนอนค้างอ้างแรมกันในเรือเป็นคืนเป็นวัน ญาติโยมที่ไปส่วนมาก จะได้รับแจกพระสมเด็จมาทุกครั้ง จากท่านเจ้าเกตุ เมื่อใครถามก็จะบอกว่าได้มาจากท่านเจ้าเกตุ วัดไชโย จ.อ่างทอง ในระยะหลังๆพูดกันไปพูดกันมา คำว่า " เจ้า" ก็หายไป คงเหลือแต่คำว่า "เกตุ" เมื่อมารวมกับ "ไชโย" จึงเรียกชื่อเป็น วัดเกตุไชโย เมื่อใครถามถึงพระ ก็บอกว่า พระสมเด็จวัดเกตุไชโย จนติดปากกันมาจนถึงทุกวันนี้ แต่ที่จะเรียกว่า วัดเกตุไชโย หรือ พระสมเด็จวัดเกตุไชโยนั้น ประชาชนที่เรียกส่วนมากกลับกลายเป็นชาวบางกอกถึง ๙๐ เปอร์เซ็นต์ เพราะชาวบางกอกนั้นเอามาเผยแพร่สืบต่อกันไปเอง โดยเรียกชื่อท่านเจ้าคุณเกตุกับชื่อวัดรวมกันจนติดปากว่า วัดเกตุไชโยหรือพระสมเด็จวัดเกตุไชโยมากระทั่งทุกวันนี้ 

จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น ทำให้เราเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ของคำที่ว่า พระสมเด็จวัดเกตุไชโย คือ พระสมเด็จ ที่ได้รับมาจากท่านเจ้าคุณเกตุ วัดไชโย ไม่ใช่เชื่อด้วยการฟังตามกันมาว่า " วัดไชโยเจ้าพระคุณสมเด็จฯเป็นผู้สร้างในที่ดินของตา อุทิศให้มารดากับตา มารดาชื่อเกตุ ตาชื่อไชย จึงตั้งนามว่าวัดเกตุไชโย แต่มักเรียกกันตามสะดวกปากว่า "วัดไชโย" การสร้างค้างอยู่ช้านาน แต่ในหนังสือตำนานพระอารามหลวงว่า เป็นวัดโบราณ" ถ้าใช้หลัก กาลามสูตรหรือหลักความเชื่อก็ต้องสืบค้นถึงเหตุปัจจัยในเรื่องนั้นๆ แล้วถึงจะปลงใจเชื่อ เพราะความจริง พ่อของสมเด็จโต ชื่อนายผล มีพี่น้องรวม ๓คน คือ ท่านผู้หญิงแพง ท่านผู้หญิงพลับ และนายผล ซึ่งเป็นลูกของพระยากำแพงเพชร (นุช) แม่ชื่อ นางงุด ตามข้อมูลและหลักฐานที่ปรากฎในบทความประวัติสมเด็จโต

จากข้อมูลในหนังสือ สามสมเด็จ โดย ประชุม กาญจนวัฒน์ ได้รวบรวมและเรียบเรียงไว้ว่า

เพราะแม้แต่หนังสือ ตำนานพระอารามหลวง ก็ยังได้กล่าวว่า วัดไชโย เป็นวัดโบราณมาก่อนนานแล้ว แต่ขณะที่สมเด็จโตได้กลับไปเยี่ยมบ้านที่ตำบลไชโยนั้น คงจะพบวัดไชโยตกอยู่ในสภาพทรุดโทรมเอามากแล้วก็ว่าได้ และก็ด้วยเหตุนี้เอง สมเด็จโตจึงได้บูรณะวัดและสร้างองค์ "พระโต" ขึ้นมาอีกหนึ่งองค์ เลยทำให้วัดไชโยเดิมนั้น เหมือนราวกับได้มีการสร้างขึ้นใหม่ ในสมัยร.๔ตอนปลายนี่เอง

เราก็จะสรุปประวัติของวัดไชโยไว้ได้ดังนี้ " วัดไชโยเป็นวัดเก่าแก่มาตั้งแต่ครั้งสมัยอยุธยาตอนปลาย พอถึงสมัยร.๔ ตอนปลาย (ประมาณ พ.ศ. ๒๔๐๐-๒๔๐๕) สมเด็จโตได้เห็นสภาพของวัด จึงได้ทำการบูรณะวัดและสร้าง "หลวงพ่อโต"ขึ้นใหม่อีก ๑ องค์ รวมทั้งถาวรวัตถุอื่นๆในบริเวณวัดอีกด้วยเป็นลำดับมา จนถึงสมัยร.๕ วัดไชโย ก็ได้รับพระราชทานให้เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร และได้เจริญรุ่งเรืองต่อมาตราบเท่าทุกวันนี้"

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสมณฑลอยุธยา ในปีขาล พ.ศ. ๒๔๒๑ เสด็จวัดไชโย ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ว่า " ล่องลงไปอีกหน่อยหนึ่งถึงวัดไชโย ซึ่งสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) สร้างพระใหญ่ขึ้นไว้และจอดเข้าที่นั้น พระยาราชเสนา พระยาอ่างทอง หลวงยกบัตรมาคอยรับ เสด็จขึ้นไปดูพระ หน้าตารูปร่างไม่งามเลย แลดูที่หน้าวัด ปากเหมือนท่านขรัวโตไม่ผิด ถือปูนขาวไม่ได้ปิดทอง ทำนองท่านจะไม่คิดปิดทอง จึงได้เจาะท่อน้ำไว้ที่พระหัตถ์ แต่เดี๋ยวนี้มีผู้ไปก่อวิหารขึ้นค้างอยู่ ใครจะทำต่อไปไม่ทราบ..........."

และจากการที่มีผู้ไปบูรณะ สร้างเสริมวัดไชโยไว้บ้าง แต่ไม่เสร็จ ประกอบกับวัดไชโยขณะนั้นยังไม่เป็นที่เจริญตา แก่ผู้มากราบไหว้หลวงพ่อโต ที่สมเด็จโตสร้างไว้นัก จึงในพ.ศ.๒๔๒๙ เจ้าพระยารัตนบดินทร์ (บุญรอด กัลยาณมิตร) สมุหนายก ได้เกิดมีศรัทธาแก่กล้ารับสร้างและปฏิสังขรณ์วัดไชโย ซึ่งมีพระอุโบสถ และพระวิหาร รวมทั้งสิ่งอื่นๆให้ดีขึ้นกว่าเดิม และจากการปฏิบัติงานบุญในครั้งนั้น แรงสั่นสะเทือนจากการกระทุ้งรากพระวิหารได้เป็นเหตุให้ "หลวงพ่อโต" ที่สมเด็จโต ได้สร้างไว้ครั้งหลังสุด ก็ต้องพังทะลายล้มลงมาทั้งองค์อีก เป็นครั้งที่๓

เจ้าพระยารัตนบดินทร์ (บุญรอด กัลยาณมิตร) จึงเข้ากราบบังคมทูล ร.๕  พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า รับสั่งให้สร้างพระโตขึ้นใหม่เป็นของหลวง พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการ ทรงเป็นนายช่างปั้น ตามแบบอย่าง ร.๓ ทรงรับสร้างพระโต วัดกัลยาณมิตร ช่วยเจ้าพระยานิกรบดินทร (โต ต้นสกุลกัลยาณมิตร) ผู้เป็นบิดาของเจ้าพระยารัตนบดินทร์มาแต่ก่อน จนสำเร็จเรียบร้อยตามพระราชประสงค์ จากนั้นล้นเกล้าร.๕ ก็ได้พระราชทานนามพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นใหม่ว่า "พระมหาพุทธพิมพ์" และได้ทรงรับวัดไชโยเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร

สรุปจากเอกสารสำคัญสมัย ร.๕ ได้ปรากฎไว้ว่า การสร้างพระมหาพุทธพิมพ์ ได้ฤกษ์ก่อสร้างเมื่อปีพ.ศ.๒๔๓๐ เมื่อถึงวันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ.๒๔๓๓ ได้มีพิธีเบิกพระเนตรพระพุทธรูปที่วัดไชโย และวันที่ ๒๔-๒๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๓๔ ทรงโปรดเกล้าให้เจ้าพระยารัตนบดินทร์ทำการปิดทอง และพอถึงวันที่ ๒๕-๒๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๓๘ วัดไชโยวรวิหาร ก็ได้มีการฉลองครั้งใหญ่ขึ้นเป็นครั้งแรกอย่างยิ่งใหญ่มโหฬาร " พระมหาพุทธพิมพ์" เป็นพระพุทธรูปศิลปรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีพระพักตร์คล้ายกับพระอู่ทองมากอยู่ เป็นพระนั่งปางสมาธิ หน้าตักกว้าง ๑๖.๑๓ เมตร สูงสุดยอดพระเกศ ๒๒.๖๕ เมตร ประดิษฐานอยู่ในวิหารที่สร้างคลุมไว้สูงใหญ่ อยู่หลังพระอุโบสถของวัด

เกี่ยวกับการกำเนิดพระ "หลวงพ่อโต" โดยสมเด็จโตที่ได้สร้างไว้เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๐๐-๐๕ นั้น ได้มีผู้กล่าวกันว่า การสร้างพระหลวงพ่อโตที่เสร็จเรียบร้อยเป็นครั้งแรกนั้น สมเด็จโตยังไม่ทันได้นำพระเครื่องบรรจุไว้ในองค์พระท่าน ก็เกิดพังลงมาเสียก่อน แต่พอสร้างใหม่ในครั้งที่ ๒ เสร็จ (ประมาณ พ.ศ. ๒๔๐๖-๒๔๐๗) สมเด็จโตก็ได้นำเอาพระสมเด็จแบบยกขอบกระจก ทั้งพิมพ์ฐาน ๗ ชั้น และ ๖ชั้น ด้วยจำนวนเท่าพระธรรมขันธ์ คือ ๘๔,๐๐๐ องค์ ซึ่งได้สร้างล่วงหน้าไว้ ตั้งแต่เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๐๔ (ก่อนกำเนิดพระสมเด็จวัดระฆัง) แล้วนำลงมาบรรจุไว้ในองค์พระ "หลวงพ่อโต"ครั้งนั้น แต่สำรวจดูภายหลังพระไม่ครบจำนวน จึงเข้าใจว่าคงจะเพิ่มพระสมเด็จวัดระฆังฯ ซึ่งขณะนั้นได้เริ่มทำเป็นพิมพ์ทดลองแล้วนำลงกรุไว้ด้วย รวมทั้งพระพุทธรูปโบราณที่ชาวบ้านได้นำมาร่วมบรรจุลงกรุ ตามประเพณีการสร้างองค์พระพุทธปฏิมาขนาดใหญ่ไว้เช่นกัน แต่แล้วเหตุการณ์ได้ผ่านไปเพียง ๓-๔ปีเท่านั้น  "พระหลวงพ่อโต" ของสมเด็จโต ก็ได้เกิดพังทะลายลงมาอีกเป็นครั้งที่ ๒ ทั้งนี้เพราะฐานรองรับองค์พระไม่มีกำลังพอ (องค์ใหญ่กว่าปัจจุบัน) รวมทั้งวัสดุที่ทำก็เป็นดินเหนียวผสมแกลบเท่านั้น

องค์พระหลวงพ่อโต ได้เริ่มสร้างขึ้นใหม่เป็นครั้งที่๓   เมื่อสร้างเสร็จในปีพ.ศ.๒๔๑๐ สืบเนื่องจากการพังทะลายในครั้งที่ ๒ พระเครื่องที่บรรจุอยู่คงถูกชาวบ้านพากันหยิบฉวยไปเสียมิใช่น้อย เล่ากันถึงขนาดว่าสมเด็จโตต้องขอร้องให้นำกลับมาใส่กรุและเป็นผลให้เราทราบว่าที่วัดไชโย ก็มีพระสมเด็จวัดระฆังร่วมลงกรุไว้ด้วยเช่นกัน

รายแรกคือ คุณสุรินทร์ ศรีประดับเกียรติ อดีตนายร้อยตำรวจ ที่เป็นลูกอ่างทอง (เมื่อปีพ.ศ.๒๕๒๓ อายุ ๖๒ ปี) ได้นำพระสมเด็จวัดระฆัง "พิมพ์ทรงเจดีย์" (ฐาน ๓ ชั้น) มาให้คุณประชุม กาญจนวัฒน์ (ผู้เขียน) ชม เขาบอกว่า "พระองค์นี้คุณตาให้กับคุณแม่ไว้ โดยคุณตาได้สั่งให้รักษาไว้ให้ดี เพราะพระที่ว่านี้ ได้มาจากกรุวัดไชโย ซึ่งมีไม่มากนัก ต่อมาคุณแม่ของเขาก็ได้มอบให้เขา ไว้ใช้ติดตัวมาจนกระทั่งทุกวันนี้..." ผม-คุณประชุม ได้ชมพระองค์นี้แล้ว เป็นของแท้ดูง่าย เข้าใจว่าสมเด็จโตคงจะนำไปร่วมลงกรุไว้กับพระสมเด็จไชโยในครั้งนั้นนั่นเอง

นอกจากนั้น ผมยังได้รับคำยืนยันจากคุณสุรพล เปล่งวัฒน์ ซึ่งเป็นลูกอ่างทอง ที่สนใจและได้สะสมพระสมเด็จเกศไชโยไว้มากพอสมควร เขากล่าวกับผู้เขียนว่า "เกี่ยวกับเรื่องมีผู้พบพระสมเด็จวัดระฆังที่กรุวัดไชโยนานมาแล้วนั้น ผมได้เคยคุยกับผู้เฒ่าอ่างทองหลายท่าน ต่างก็ยืนยันว่า สมเด็จโตท่านมาสร้างพระโตไว้ที่วัดไชโย แล้วก็เอาพระสมเด็จมาลงกรุไว้ รวมทั้งพระแบบ ๓ชั้น ที่เป็นพระของวัดระฆังด้วย แต่ก็มีน้อยมาก......"

เพื่อให้เรื่องนี้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ผม-คุณประชุม กาญจนวัฒน์ ขอนำเอาข้อความของร.ต.อ. นิรันดร์ กัลปพฤกษ์ ซึ่งได้เขียนไ้ในหนังสือประวัติวัดไชโยตอนหนึ่งว่า....

" ได้มีผู้ถามว่า พระเครื่องสมเด็จฯ ที่สมเด็จโตสร้างนอกเหนือจากชนิด ๗ชั้น มีชนิดบัลลังก์ ๓ ชั้น ๕ชั้น บรรจุไว้ในองค์หลวงพ่อโตวัดไชโยหรือไม่ ผู้เขียนขอยืนยันว่าพระสมเด็จฐาน ๓ชั้นมีจริง เพราะผู้เขียนได้รับมรดกตกทอดมา และได้รับการยืนยันว่า เมื่อครั้งพระหลวงพ่อโตได้พังทลายลงมา ได้พบว่าพระเครื่อง ๓ชั้น ๕ชั้น ๖ชั้น ๗ชั้น ตกกระจายเกลื่อน .........."

นอกจากนั้น คุณนิรันดร์ ยังได้เขียนยืนยันเกี่ยวกับพิมพ์ ๕ชั้น ไว้อีกว่า " สำหรับพระสมเด็จประเภทพิมพ์ ๕ชั้น (พิมพ์ฐานแซม) นั้น ก็มีจริงเช่นกัน เพราะมีนายตำรวจ ยศร.ต.ต. ผู้หนึ่ง ซึ่งบัดนี้ได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว ขณะที่เขารับราชการอยู่ที่สถานีตำรวจภูธร อ.ไชโย จ.อ่างทองนั้น ได้กล่าวกับผู้เขียนว่า พระสมเด็จฐาน ๕ชั้น องค์นั้น เขาได้มาจากผู้มีนิวาสถานอยู่ใต้วัดไชโย เป็นผู้มอบให้ และบอกว่าเป็นพระที่พบจากกรุวัดไชโยนานมาแล้ว (เข้าใจว่าได้ตอนพระหลวงพ่อโตพังครั้งที่ ๓) จึงเป็นหลักฐานได้แน่นอนว่าพิมพ์ ๕ชั้นนั้นมีจริง แต่คงจะน้อยมาก....."

จึงสรุปได้ว่า ถึงแม้ที่วัดไชโย จะมีพระสมเด็จวัดระฆังฯ ที่ถูกนำไปร่วมฝากกรุไว้ก็ตาม ผุ้เขียน-คุณประชุม ก็เชื่อว่าอย่างมากคงไม่เกิน ๓๐ องค์ เช่นเดียวกับกรุบางขุนพรหม ก็เคยพบพระสมเด็จวัดระฆังฯบางพิมพ์ ได้มีการฝากกรุไว้ด้วยเช่นกัน (มีอยู่ไม่มากนัก) ฉะนั้นถ้าใครเกิดไปได้พระสมเด็จวัดระฆังฯ ที่ลงกรุไว้ที่อ่างทองบ้างละก้อ ก็นับว่าท่านผู้นั้นออกจะโชคดีอย่างปาฏิหาริย์ เพราะน้อยคนนักที่จะพึงประสบเช่นนั้นได้ 

โดยส่วนตัวของผม (อมร ชุติมาวงศ์) เชื่อว่า พระหลวงพ่อโต ที่สมเด็จโตสร้าง พังทะลายลงมาเพียง ๒ ครั้ง ไม่ใช่ ๓ ครั้ง ถ้าจะเป็น ๓ ครั้ง ต้องนับรวมครั้งที่ เจ้าพระยารัตนบดินทร์ (บุญรอด)ไปปฏิรูปด้วย เหตุผลคือ ร. ๕โปรดเกล้าให้ไปสร้างยังใช้เวลา ๓-๔ ปี จึงจะสำเร็จเรียบร้อย สมเด็จโตสร้าง ถ้าเริ่มปีพ.ศ.๒๔๐๑ เสร็จครั้งแรกพ.ศ. ๒๔๐๔ หลังจากนั้น ๓ปีพังทะลายลงมาในปีพ.ศ.๒๔๐๗ เริ่มสร้างใหม่อีก ๓ปีเสร็จ ปีพ.ศ.๒๔๑๐ จึงได้มีพระสมเด็จวัดระฆังฯเข้าไปบรรจุกรุฯอยู่ด้วย แต่อย่างไรก็ตามสมเด็จโตสร้างพระหลวงพ่อโตสำเร็จต้องหลังพ.ศ. ๒๔๐๗ แน่นอน เหตุผลติดตามต่อไป

จากข้อมูลที่ชี้แจงมาตามลำดับ สรุปคำตอบได้ว่า

๑ สมเด็จโต สร้างพระเครื่องครั้งแรก เมื่อพระธรรมถาวรบวชเณรได้แล้ว ๒ ปี คือบวชเณรพ.ศ.๒๓๙๙ สร้างพระเครื่องพ.ศ.๒๔๐๑ ไม่ใช่บวชพระเมื่อปีพ.ศ.๒๔๐๗แล้วสร้างพระเครื่องในปีพ.ศ.๒๔๐๙

๒ เจ้าเขมรองค์ที่สนิทชิดชอบและเลื่อมใสสมเด็จโต คือนักองค์ด้วง ซึ่งมาอยู่เมืองไทยนานถึง ๒๗ปี วังเจ้าเขมรอยู่บริเวณวัดสระเกศ ปีพ.ศ.๒๔๐๐ นักองค์ด้วงได้ขอให้ลูกชายคือนักองค์ราชาวดีกลับไปเป็นพระมหาอุปราชที่เขมร ร.๔คงให้สมเด็จโตเดินทางไปด้วยในปีพ.ศ.๒๔๐๐ ตามที่มีบันทึกของ เทพ สุนทรศาลทูร นอกจากนี้นักองค์ด้วงเมื่อสวรรคตยังได้แสดงเจตนาถึงขนาดบริจาคเนื้อของพระองค์ให้เป็นทานแก่สัตว์

๓ พระสมเด็จวัดไชโย ถูกบรรจุไม่เกินพ.ศ.๒๔๑๐ ถ้าสมเด็จโตสร้างครั้งแรกพ.ศ.๒๔๐๙ ไม่มีทางเป็นไปได้แน่นอน

ด้งนั้นสรุปได้ว่าสมเด็จโต สร้างพระเครื่องของท่านครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ.๒๔๐๑ แน่นอน

 ๒ พระสมเด็จมีกี่พิมพ์และ จากหนังสือ ประวัติ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พระครูกัลยาณานุกูล รวบรวมและเรียบเรียง ไว้เมื่อปีพ.ศ.๒๔๙๕ ว่า


ในชั้นเดิม เจ้าประคุณสมเด็จฯ ดำริจะให้ช่างทางบ้านช่างหล่อ (เดิมเรียกบ้านชาวเหนือ ด้วยเป็นที่อยู่อาศัยของพวกชาวเหนือ ซึ่งเป็นข้าในกรมพระราชวังหลัง) (อมร- ปู่ของสมเด็จโต พระยากำแพงเพชร-นุช ก็เป็นก๊กวังหลัง พ่อของสมเด็จโต พระยาฤทธฺิเดชหรือนายผล ก็มารับราชการอยู๋กทม.) ทำแม่พิมพ์ ภายหลังบรรดาผู้ที่เคารพนับถือและพวกสานุศิษย์ที่สามารถทำแม่พิมพ์ได้ ได้ทำถวาย (เพราะเหตุนี้ พระสมเด็จจึงมีรูปลักษณะหลายอย่างต่างชนิดกัน ดังจะกล่าวต่อไปข้างหน้า) และว่าในตอนแรกใช้หินมีดโกนแกะเป็นแม่พิมพ์ ต่อมาจึงใช้หินอ่อนบ้าง ไม้แก่นบ้าง (เจ้าคุณพระราชธรรมภาณี-ลมูล เจ้าอาวาส วัดระฆังฯ ว่า คราวหนึ่งเจ้าคุณพระธรรมถาวร (ช่วง) ได้เล่าให้คนคุ้นเคย ๒-๓คนฟัง ว่าแม่พิมพ์พระสมเด็จได้บรรจุไว้ในพระเจดีย์องค์ ๑ ที่ในวัดระฆังฯ ต่อมาสัก ๓-๔วัน พระเจดีย์องค์นั้นได้ถูกทำลายพังหมด)  ส่วนวัตถุที่ใช้สร้างนั้น ว่าใช้วัตถุหลายอย่างต่างกัน คือผงดินสอ (ที่ได้จากการเรียนมูลกัจจายน์ ตามวิธีโบราณ) ดินสอเหลือง ปูนขาว เกสรดอกไม้ เปลือกกล้วยหอม เปลือกกล้วยน้ำ ชานหมาก ใบลานเผา อาหารสำรวม (ตามปรกติเจ้าประคุณสมเด็จฯมักฉันอาหารสำรวม คือในเวลาฉันเช้า ท่านจะหยิบอาหารคาวหวานทุกชนิดใส่ลงในบาตรคลุกเคล้ากับข้าวสุก แล้วแบ่งออกเป็น ๓ส่วน ส่วน ๑ให้บุชาพระพุธรูป ณ ที่บูชา-เรียกกันว่าถวายข้าวพระ ส่วน ๑ให้ทานสัตว์ อีกส่วน ๑ท่านฉัน ครั้นเวลาเที่ยงแล้วให้เอาอาหารที่บูชาพระพุทธรูปนั้นไปตากแดด เก็บรวบรวมไว้สร้างพระสมเด็จต่อไป กล่าวว่าเจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านทำดังนี้เสมอเป็นอาจิณวัตร เว้นแต่ไปฉันในกิจนิมนต์



เจ้าคุณพระราชธรรมภาณี (ลมูล สุตาคโม) เจ้าอาวาสวัดระฆังฯ ว่าได้รับคำบอกเล่าจากนางเปลื้อง พุธจำเนียร (คนทำครัวของพระธรรมถาวร บ้านเลขที่ ๗๑๔ หลังวัดระฆังฯ ธนบุรี อายุ ๗๐ปี ในพ.ศ.๒๔๙๕) ซึ่งอ้างว่าเจ้าคุณพระธรรมถาวรเล่าให้ฟังว่า 

ลักษณะการสร้างพระสมเด็จนั้น ในตอนแรกเจ้าประคุณสมเด็จฯ ฉันกล้วยแล้วเอาเปลือกใส่ภาชนะเก็บไว้ ท่านมีดินสอเหลืองใหญ่อยู่ก้อนหนึ่ง จึงให้นายน้อยผู้เป็นง่อย ซึ่งอยู่กับท่าน เอาเลื่อยๆดินสอเหลืองเป็นชิ้นเล็กๆ ประสมกับเปลือกกล้วยนั้น เจือด้วยน้ำผึ้งบ้าง น้ำอ้อยเคี่ยวบ้าง ตำจนละเอียดเข้ากันดีแล้ว จึงให้นายน้อยกับเจ้าคุณพระธรรมถาวร ซึ่งเวลานั้นเป็นพระสมุห์ถานุกรมของท่าน ช่วยกันพิมพ์พระด้วยแม่พิมพ์อย่างเล็ก เป็นรูปหลังเบี้ยฐาน ๗ชั้น เสร็จแล้วให้เก็บเข้าไว้ในกุฏิชั้นใน แล้วให้ทำโดยวิธีนั้นต่อไปอีก จนพอแก่ความต้องการ ท่านได้ทำพิธีปลุกเสกวันละ ๓ครั้ง คือเวลาเช้า กลางวันและเย็น เป็นนิจ มิได้ขาด แล้วเอาออกแจกจ่ายแก่ผู้ต้องการทุกคน 

ต่อมาได้ทำโดยวิธีนั้นอีก แต่วิธีพิมพ์แปลกออกไป คือเมื่อประสมผงได้ที่แล้ว ให้เอาออกมาปั้น แล้วคลึงให้เป็นท่อนยาวคล้ายฟั่นเทียน แล้วตัดเป็นข้อๆ ผ่ากลางเอากดในแม่พิมพ์ เมื่อแกะออกมาจากแม่พิมพ์แล้ว ท่านเอามีดเจียนหัวและท้ายกับข้างๆให้มนเข้า แล้วทำพิธีปลุกเสกเช่นเคย ว่าท่านเอาไปแจกชาววังเมื่อเวลาไปบิณฑบาตเสมอ ท่านทำดังนี้ จนหมดดินสอเหลือง

ว่าเมื่อทำพระได้ร้อยองค์ ให้ทำพระชนิดหลังเบี้ยขนาดเท่าปลายนิ้วก้อยองค์ ๑ เรียกว่าพระคะแนนร้อย

 เมื่อทำได้พันองค์ ให้ทำพระขนาดใหญ่กว้างราว ๔.๒ ซ.ม. ยาวราว ๖.๑ ซ.ม. องค์ ๑ เรียกว่า พระคะแนนพัน ดังจะกล่าวในที่อื่นข้างหน้า

ต่อมาท่านใช้ ดินสอขาว ที่ทำเป็นแท่งแล้ว ลงอักขระลบเอาผงเก็บประสมไว้จนพอแก่ความต้องการ ท่านจึงให้ไปแกะกะเทาะปูนขาวที่ล่อนๆตามกำแพงโบสถ์บ้าง สีมาบ้าง ซึ่งมีตะไคร่น้ำติดอยู่เป็นส่วนมาก แล้วเอามาตำประสมกับดินสอขาวที่ท่านทำไว้ แล้วจึงพิมพ์ ทีนี้พิมพ์เป็นรูป ๔เหลี่ยมผืนผ้า เป็นพระชนิดปรกโพธิ์ ชนิดทรงเจดีย์ และชนิดอื่นๆ

จึงได้ความว่า พระสมเด็จบางองค์เนื้อเหลือง ก็เพราะท่านประสมดินสอเหลืองนั่นเอง

บางองค์เนื้อขาวเจือเขียวเล็กน้อย เมื่อหักออกดู จะเห็นผงดำๆติดอยู่ประปราย จึงให้ได้ความสันนิษฐานว่า ที่เนื้อติดจะเขียวเล็กน้อยนั้น ก็เพราะกะเทาะปูนขาวที่เอามาตำนั้น 

เมื่อส่วนประสมที่เจือด้วยของเหลว ตะไคร่น้ำก็คลายความดำของมันออกประสมกับผงที่ประสมนั้นๆ ที่เนื้อมีผงดำติดอยู่ประปราย ก็เพราะตะไคร่น้ำนั้น ไม่ได้ถูกย่อยจนละเอียดโดยสิ้นเชิงนั่นเอง

ในตอนหลัง เมื่อเจ้าประคุณสมเด็จฯสร้างและปลุกเสกพระสมเด็จเสร็จแล้ว ท่านให้ใส่บาตร กระบุงและสัด ไปตั้งไว้ที่ในหอสวดมนต์ ตรงหน้าพระพุทธรูป แล้วโยงสายสิญจน์จากพระพุทธรูปไปวงที่พระสมเด็จนั้น บอกกับพระสงฆ์ที่มาประชุมเจริญพระพุทธมนต์ในพรรษา ว่าขอให้ช่วยปลุกพระของท่านด้วย นัยว่าที่เจ้าประคุณสมเด็จฯทำดังนั้น ด้วยประสงค์จะแสดงให้ปรากฎแก่คนทั้งหลายโดยปริยายหนึ่ง ว่าพระของท่านได้ทำพิธีปลุกเสกแล้ว ครั้นถึงวันฤกษ์งามยามดี ท่านก็ให้รวบรวมพระสมเด็จไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์วัดต่างๆ คือ วัดชีปะขาว (วัดศรีสุดาราม) วัดตะไกร (แขวงกรุงเก่า) วัดระฆังฯ (กล่าวกันว่า พระสมเด็จกรุวัดระฆังฯ เป็นพระฐาน ๓ชั้น ชนิดปรกโพธิ์ ปรกเมล็ดโพธิ์ และเศียรบาตร โดยมาก พระสมเด็จดั่งว่านี้ มีขนาดและสีสัณฐานอย่างไร จะพรรนาต่อไปข้างหน้า) และวัดไชโย (เจ้าคุณพระมหาพุทธพิมพาภิบาล -วร เจ้าอาวาสวัดไชโย ว่า เมื่อหลายปีมาแล้วพระเจดีย์ที่บรรจุพระสมเด็จพัง ท่านได้รวบรวมพระสมเด็จบรรจุไว้ที่ฐานพระโตในพระวิหารวัดไชโย)

ทีนี้จะพรรณนาว่าด้วยพระสมเด็จต่อไป พระสมเด็จที่เจ้าประคุณสมเด็จฯสร้างนั้น ว่ามีถึง ๗๓ ชนิด แต่ในเวลาที่เรียบเรียงเรื่องประวัตินี้ สืบทราบเพียง ๒๙ ชนิด ความที่กล่าวต่อไปนี้ เป็นคำบอกอธิบายของพระอาจารย์ขวัญ วิสิฏโฐ วัดระฆังฯ ซึ่งอ้างว่าเจ้าคุณพระธรรมถาวร (ช่วง) และพระครูธรรมราต (เที่ยง) บอกเล่าชี้แจงให้ฟัง พระครูธรรมราต (เที่ยง) ถานานุกรมในสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ม.ร.ว.เจริญ อิศรางกูร ณ อยุธยา) เป็นนักสะสมพระพิมพ์ชนิดต่างๆผู้หนึ่ง โดยเฉพาะมีความชำนาญดูพระสมเด็จเป็นพิเศษ ว่ากันว่า ไม่ต้องหยิบพระมาพิจารณา เพียงแต่มองดูห่างๆ ก็สามารถบอกได้ถูกต้อง ว่าเป็นพระสมเด็จแท้หรือมิใช่

๑ พระคะแนนพัน (รุ่นแรก) ๓ชั้น มี ๓อย่าง คือสีดำ-อยู่ยงคงกระพัน สีขาวมีกลิ่นหอม-แก้โรคต่างๆ สีขาวไม่มีกลิ่น-ทางเมตตามหานิยม (ขนาดเดียวกัน กว้าง ๔.๒ซ.ม. ยาว ๖.๑ซ.ม.) กล่าวกันว่า นายเทศ บ้านถนนดินสอ หลังตลาดบ้านขมิ้น ธนบุรี เป็นผู้ทำแม่พิมพ์พระคะแนนพันรุ่นแรก และว่าเจ้าประคุณสมเด็จฯได้เอาพระนี้ให้นางเอี่ยม ผู้ซึ่งขายน้ำพริกเผาและกุ้งแห้ง ที่ในตลาดนั้นเป็นคนแรก นางเอี่ยมติว่าใหญ่นัก เจ้าประคุณสมเด็จฯว่า ทำครั้งแรกต้องใหญ่หน่อย ภายหลังคิดเห็นว่า ทำพระขนาดใหญ่ต้องเปลืองผงโดยใช่เหตู ท่านจึงให้ทำแต่พระขนาดเล็กต่อมา

๒ ขอบกระด้ง หลังกาบกล้วย ๓ชั้น เป็นพระคะแนนกรุวัดไชโย รูปไข่ กว้าง ๕.๕ซ.ม. ยาว ๘.๕ซ.ม.

๓ พระคะแนนพันรุ่นหลัง ๗ชั้น กว้าง ๒.๓ ซ.ม. ยาว ๕.๕ซ.ม.

๔ หูบายศรี พระกรรณยาวงอนดุจบายศรี ๖ชั้น กว้าง ๒.๒ซ.ม. ยาว ๓.๓ซ.ม.

๕ หูบายศรี ๗ชั้น กว้าง ๒.๔ซ.ม. ยาว ๓.๕ซ.ม. ว่าหูบายศรี ๖ชั้นหายากกว่า ๗ชั้น

๖ เศียรบาตร พระเศียรโต เรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า ทรงไกเซอร์ ๓ชั้น ด้านหลังมีรอยนิ้วหัวแม่มือ ๒รอย กว้าง ๒.๕ซ.ม. ยาว ๓.๘ซ.ม.

๗ หลวงพ่อโต สีอิฐเจือดำ มี ๓อย่าง คือที่ใต้ฐานมีรอยเล็บหัวแม่มือสองรอยอย่างหนึ่ง ที่ด้านหลังมีรูหนึ่งรูอย่างหนึ่ง ที่ด้านหลังมีรูสองรูอย่างหนึ่ง ขนาดเดียวกัน กว้าง ๒.๕ซ.ม. ยาว ๓ซ.ม.

 เจ้าคุณพระธรรมถาวรว่า หลวงพ่อโตมีอยู่ในทุกกรุพระสมเด็จและว่ามีพระสมเด็จอีกอย่างหนึ่งเรียกกันว่า "หลวงพ่อโบ้" รูปลักษณะเป็นอย่างเดียวกันกับหลวงพ่อโต แต่ขนาดเล็กกว่าและมักเป็นดินเผา ว่าเมื่อปีที่ร.๔เสวยราชย์ (ปีกุน พ.ศ.๒๓๙๔) เจ้าประคุณสมเด็จฯเกรงจะต้องรับพระราชทานสมณศักดิ์ ท่านจึงหลบไปพักที่กรุงเก่า และได้จัดสร้างพระพิมพ์ชนิดนี้ขึ้นในคราวนั้น

นี่คือพระตัวอย่าง ตามที่ผมได้เล่าไว้ในตอนตามล่าหาความจริง ในตอนที่ไปวัดกุฎีทอง มีน้องชายคนขายน้ำอัดลมรถเข็น เอาพระองค์นี้มาให้ผมดู แล้วเล่าว่า องค์นี้ให้ผม แต่ย้ำว่าเป็นพระปลอมและบอกว่าชาวบ้านรอบวัดทำปลอมแทบจะทุกหลังคาเรือน เพราะคนกรุงเทพเมื่อทราบว่าวัดกุฎีทอง มีพระสมเด็จแตกกรุ แห่แหนกันมาเช่า สมัยนั้นพระองค์นี้ปล่อยถึง ๓,๐๐๐บาท พร้อมย้ำอีกครั้งว่านี่ของปลอมนะ

๘ เศียรกระแต-พระพักตร์เรียว ๓ชั้น กว้าง ๒ ซ.ม. ยาว ๓.๔ ซ.ม.

๙ ทรงเจดีย์-ลักษณะพระงาม ๓ ชั้น กว้าง ๒ ซ.ม. ยาว ๓.๕ ซ.ม.

๑๐ พระประจำวัน ว่ามีครบทั้ง ๗ วัน พระประจำวันพุธ (อุ้มบาตร) กว้าง ๒ ซ.ม. ยาว ๔ ซ.ม. พระประจำวันนอกนี้ จะมีขนาดอย่างไรหาทราบไม่

๑๑ ขุนแผน-หลังกาบกล้วย กว้าง ๒.๕ ซ.ม. ยาว ๔.๗ ซ.ม.

๑๒ ใบลานเผา สีดำ ๓ ชั้น กว้าง ๒ ซ.ม. ยาว ๓.๒ ซ.ม.

๑๓ ชานหมาก-สีดำ ๓ ชั้น กว้าง ๒.๒ ซ.ม. ยาว ๓.๔ ซ.ม.

๑๔ นางพญา-รูปหน้าจั่ว ไม่มีฐาน มี ๒ อย่าง คือสีแดงหม่นค่อนดำ และสีขาว ขนาดเดียวกัน ฐานล่างสุดกว้าง ๑.๘ ซ.ม. ยาว ๒.๕ ซ.ม.

กล่าวกันว่า พระนางพญาสีขาว เจ้าประคุณสมเด็จฯถวายร.๔ -๖๕ องค์ ว่าพอทอดพระเนตรเห็น ก็ทรงทราบด้วยพระญาณว่า พระองค์จะเสด็จสวรรคตเมื่อพระชนม์พรรษา ๖๕ พรรษา ส่วนนางพญาสีดำนั้น ว่าเจ้าประคุณสมเด็จฯ สร้างไว้สำหรับถวายเจ้านายฝ่ายใน

๑๕ ปรกเมล็ดโพธิ์ ที่บริเวณพระเศียร มีปุ่มกลมเล็กหลายปุ่ม สีเขียวคล้ำ เรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า สมเด็จเขียว ๓ ชั้น กว้าง ๒ ซ.ม.ยาว ๓.๔ ซ.ม.

ว่าพระปรกเมล็ดโพธิ์ ร.๕ พระราชทานแจก เมื่อคราวเกิดโรคอหิวาต์ครั้งใหญ่ในปีระกา พ.ศ.๒๔๑๖

ได้ฟังเล่ากันอีกเรื่องหนึ่ง เกี่ยวกับพระสมเด็จแก้โรคอหิวาต์ ว่าเมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๔๑๖ เกิดโรคอหิวาต์ (โรคป่วง) ครั้งใหญ่ ผู้คนล้มตายกันมาก สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงจดบันทึกไว้ในจดหมายเหตุบัญชีน้ำฝน (เล่ม ๓) ดังนี้ "ระกาความไข้ คนตายนับได้ เกือบใกล้สี่พัน เบาน้อยกว่าเก่า หกเท่าลดกัน มะโรงก่อนนั้น แสนหนึ่งบัญชี เขาจดหมายไว้ มากกว่าครั้งนี้ หกเท่าเป็นไป กล่าวกันว่า ในครั้งนั้น ร.๕โปรดเกล้าพระราชทานแจกพระสมเด็จชนิดปรกเมล็ดโพธิ์ ที่เรียกกันว่า สมเด็จเขียว ว่าคนเป็นอันมากได้รอดตายเพราะพระสมเด็จนั้น จึงเกิดกิตติศัพท์เลื่องลือกันแพร่หลายสืบมา 

๑๖ พระเจ้าสิบทิศ มีพระเรียงลำดับบนแผ่นกระเบื้องไทย ๑๐ องค์ สีดำมี ๒ อย่าง คือ พระปางมารวิชัยและพระปางสมาธิ ขนาดเดียวกัน กว้าง ๑๐.๕ ซ.ม. ยาว ๑๗.๒ ซ.ม.

ได้ยินว่า เจ้าประคุณสมเด็จฯไปพักแรม ณ ที่ใดนานวัน ท่านมักจะสร้างพระพิมพ์ชนิดนี้ขึ้นไว้ในที่นั้นเสมอ และว่าพระชนิดนี้ป้องกันไฟดีนัก

๑๗ ปรกโพธิ์ใบ-บริเวณเบื้องบนพระเศียร มีกิ่งและใบโพธิ์ ๓ชั้น กว้าง ๒.๔ซ.ม. ยาว ๓.๖ ซ.ม.

๑๘ อกร่องหูยาน คือพระอุระเป็นร่อง พระกรรณยาวงอน สีเหลือง ๗ชั้น หนา

๑๙ คะแนนร้อย รุ่นแรก หลังเบี้ย ขนาดเท่าปลายนิ้วก้อย

๒๐ รูปใบโพธิ์ รูปลักษณะเหมือนใบโพธิ์

๒๑ ไข่ผ่าซีก รูปลักษณะเหมือนไข่ผ่าซีก ว่ามีอยู่ที่กรุวัดชีปะขาว

๒๒ หัวแม่มือ รูปลักษณะเหมือนหัวแม่มือ สีอย่างเดียวกับสมเด็จเขียว ว่าเป็นพระหมอ เมื่อจะรักษาโรค ให้เอาพระนี้ใส่ในบาตรที่มีน้ำ ถ้าพระจมว่าคนไข้ตาย ถ้าพระลอยว่าคนไข้หาย ว่าพระสมเด็จนี้ เจ้าประคุณสมเด็จฯมักให้แก่ผู้ที่เป็นหมอ

๒๓ รูปเจดีย์ คือทำเป็นรูปพระเจดีย์ในม่านแหวก ว่าพระชนิดนี้ใครจับต้อง มักขนลุก

๒๔ ฐานแซม คือฐานมีชั้นเล็กแซมชั้นใหญ่ ว่าทางเมตตามหานิยมดีนัก

๒๕ เม็ดขนุน รูปลักษณะกลมรีดุจเม็ดขนุน ว่าพระชนิดนี้เก็บรักษายาก มักจะสูญหายเสียโดยมาก

๒๖ ปิดทอง คือปิดทองทึบทั้งด้านหน้าและหลัง

๒๗ ดินสอเหลือง หลังเบี้ย ๓ ชั้น รุ่นแรก

๒๘ เปลือกกล้วยน้ำ คือทำด้วยเปลือกกล้วยน้ำ

๒๙ เกษรดอกไม้ ทำด้วยเกษรดอกไม้ต่างๆ

มีปัญหาว่า พระสมเด็จแท้หรือพระสมเด็จที่สมเด็จโตสร้าง พระสมเด็จเทียมคือพระสมเด็จที่ผู้อื่นสร้าง พระสมเด็จแท้มีรูปลักษณะอย่างไร อธิบายข้อนี้ดูเหมือนจะตอบยากสักหน่อย ด้วยปรากฎว่าพระสมเด็จ (พระพิมพ์แบบพระสมเด็จ) ที่สร้างกันในชั้นหลังต่อมา มีรูปลักษณะละม้ายหรือเหมือนพระสมเด็จแท้มาก มีท่านผู้รู้รอบ รู้ชำนาญเรื่องพระสมเด็จได้กรุณาบอกอธิบาย ให้ข้อสังเกตุไว้ว่า พระสมเด็จแท้มีรูปลักษณะดังนี้

(ก) พระนั่งขัดสมาธิ ฐาน ๓-๕-๖-๗-๙ ชั้น มีเส้นนูนขึ้นมา ๑ เส้น เป็นรูปโค้งครึ่งวง รูปไข่ รอบองค์พระ รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตั้งขึ้นทางด้านสูงตามเศียรพระ

(ข) มีขนาดต่างๆ แต่โดยมาก มีขนาดกว้าง ๒ ซ.ม.เศษ ยาว ๓ ซ.ม.เศษ

(ค) มีหลายสี คือดำ ดำปนแดงเจือเหลือง เหลืองอ่อน ขาวนวล (ดุจงาช้าง)และสีอิฐ

(ง) น้ำหนักเบากว่าพระพิมพ์ชนิดอื่นๆ 

(จ) เนื้อละเอียด ทำนองอ่อน ยุ่ย หรือชื้น แต่แข็งแกร่ง ว่ามักมีวัตถูชนิดหนึ่งขนาดเล็กสีดำหรือสีแดงฝังอยู่ที่ส่วนใดส่วนหนึ่ง

(ฉ) มักแตกเป็นลายงาช้าง หรือ ลายสังคโลก ถ้าใช้ไปนานๆ

ในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ได้มีหนังสือชื่อ ปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่องฯ เล่ม ๑ พระสมเด็จฯ โดย ตรียัมปวาย ได้ออกมาสู่ตลาด ส่วนหนึ่งได้กล่าวถึงตำนานการสร้างพระสมเด็จฯ เกี่ยวกับแม่พิมพ์พระสมเด็จฯ ไว้ว่า

พระอาทรภัทรพิสิฐ (เล็ก อุณหะนันทน์) บันทึกจากการสัมภาษณ์ พระธรรมถาวร ได้ความว่า " แต่เดิมนั้น ชาวบ้านต่างก็แกะแม่พิมพ์ของตนมา ตามลักษณะที่เจ้าพระคุณสมเด็จฯกำหนดให้ และมาช่วยกันกดพิมพ์พระ ต่อหน้าเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ในครั้งนั้นมีเจ้าวังหลังพระองค์หนึ่ง ซึ่งจำพระนามไม่ได้เสียแล้ว อยู่ในกรมช่างสิบหมู่ ได้ทรงแก้ไขแบบพิมพ์ให้งดงามขึ้น"

นายกนก สัชชุกร บันทึกความที่ได้จากการสัมภาษณ์ พระธรรมถาวร ไว้ว่า "ครั้งแรกใครจะเป็นผู้แกะพิมพ์ถวายเจ้าพระคุณสมเด็จฯไม่ทราบแน่ แต่เป็นแม่พิมพ์ที่ไม่สู้งดงามนัก และในระหว่างที่เจ้าพระคุณสมเด็จฯหมกหมุ่นในการแก้ปัญหาเรื่องความร้าวหักของพระ เมื่อตากแห้งแล้วนี้เอง หลวงวิจารณ์เจียรนัย ช่างทองหลวงในราชสำนักร.๔ ได้มาเยี่ยมและได้ขอพิจารณาแม่พิมพ์ที่ใช้สร้างพระสมเด็จมาแต่เดิม ได้กราบเรียนว่า แม่พิมพ์เหล่านี้ยังไม่งดงาม สำหรับการที่จะใช้สร้างพระเครื่องที่สำคัญเช่นนี้ เพราะขาดคุณค่าทางศิลป์เป็นอันมาก แล้วจึงได้แกะแม่พิมพ์ขึ้นใหม่ถวายเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ๒-๓ แบบ ซึ่งงดงามกว่าเก่ามาก และเจ้าพระคุณสมเด็จฯได้ใช้แม่พิมพ์ใหม่ๆนี้ พิมพ์พระสมเด็จตลอดมา แบบแม่พิมพ์ที่ใช้สร้างพระสมเด็จฯมีประมาณ ๕ แบบด้วยกัน คือ แบบ ๓ ชั้น แบบ ๕ ชั้น แบบ ๖ ชั้น แบบ ๗ ชั้น และแบบปรกโพธิ์"


พระอาจารย์ขวัญ วิสิฏโฐ วัดระฆังฯ ศิษย์ พระธรรมถาวร กล่าวตามคำบอกเล่าของ พระธรรมถาวร ว่า " ครั้งแรกนั้น นายเทด หลานชายเจ้าพระคุณสมเด็จฯ บ้านอยู่ถนนดินสอ เป็นผู้แกะแม่พิมพ์แบบทรงสี่เหลี่ยม ถวายเจ้าพระคุณสมเด็จฯเป็นคนแรก นอกจากนี้คงมีพวกชาวบ้านช่างหล่อมาช่วยแกะพิมพ์ถวายอีก เพราะเคยได้ยินเจ้าพระคุณสมเด็จฯปรารถว่า จะให้พวกชาวบ้านช่างหล่อแกะแม่พิมพ์ถวาย เพราะเป็นพวกที่มีฝีมือในการหล่อพระพุทธรูป นอกจากแบบกรอบสี่เหลี่ยมพิมพ์ต่างๆ ซึ่งได้สร้างในระยะหลังแล้ว ในสมัยเริ่มแรกของการสร้างพระสมเด็จฯนั้น เจ้าพระคุณสมเด็จฯยังไม่ได้ดำริว่าจะสร้างพระขึ้นเป็นแบบอย่างของท่านโดยเฉพาะ ดังนั้น ท่านจึงได้ถ่ายทอดแบบพิมพ์ของพระเครื่องฯโบราณ ที่มีชื่อเสียงกิตติคุณในยุคก่อนๆมาเป็นแบบอย่าง เช่น แบบพระขุนแผน แบบพระนางพญา แบบพระกำแพงเมล็ดขนุนทุ่งเศรษฐี ฯ เป็นต้น นอกจากนั้น ใครๆก็พากันออกแบบต่างๆ มาถวายเจ้าพระคุณสมเด็จฯ เป็นอันมาก เช่น แบบใบโพธิ์ แบบหลังเบี้ย แบบหลังไข่ผ่า และแบบจุฬามณี (รูปพระเกศธาตุเจดีย์ มีม่านแหวก ไม่มีองค์พระ) เป็นต้น ซึ่งแบบแปลกๆดั้งเดิมเหล่านี้ เมื่อรวมกันเข้าแล้ว มีประมาณ ๗๓ แบบ "

พระอาจารย์ขวัญ กล่าวจากการที่ได้ทราบและได้เห็นพระจากพระธรรมถาวรว่า "พระสมเด็จฯมีอยู่มากมายหลายแบบพิมพ์ ถ้าจะกล่าวเฉพาะชนิดพิมพ์สี่เหลี่ยม ก็มากพิมพ์ เช่น พิมพ์ทรงพระประธาน พิมพ์ทรงเจดีย์ พิมพ์ทรงฐานแซม พิมพ์ทรงเกศบัวตูม พิมพ์ทรงปรกโพธิ์ พิมพ์ทรงเศียรบาตรอกครุฑ (พิมพ์ทรงไกเซอร์) พิมพ์ทรงสังฆาฏิ พิมพ์ทรงเส้นด้าย และพิมพ์ทรงฐานคู่ สำหรับของวัดไชโย ก็มีพิมพ์ทรง ๕ ชั้น พิมพ์ทรง ๖ ชั้น พิมพ์ทรง ๗ ชั้น (หูบายศรี) และรวมทั้งพิมพ์ทรง ๗ ชั้น (หูธรรมดา) รุ่นแรกของวัดระฆังฯที่เอาไปบรรจุไว้ที่กรุวัดไชโยด้วย

หลวงศรีสารบาญ กล่าวว่า ได้รับทราบจาก หลวงศุภศิลป์ พระนัดดาของเจ้าฟ้าอิศราพงศ์ อธิบดีกรมช้าง วังหน้า ในสมัยร. ๕ ต่อมาเป็น สมเด็จฯกรมพระบำราบปรปักษ์ ซึ่งทรงดำรัสให้ฟังว่า "เสด็จปู่ของท่าน เป็นผู้หนึ่งที่ทรงออกแบบ พิมพ์พระสมเด็จฯ"

๓ พระสมเด็จมีเนื้อหามวลสารอย่างไร 

จากตรียัมปวายได้เขียนไว้ว่า พระอาจารย์หิน วัดระฆังฯ กล่าวว่า พระครูธรรมราช (เที่ยง) วัดระฆังฯ ซึ่งมีชีวิตอยู่ทันสมเด็จโตและเป็นศิษย์เจ้าพระคุณสมเด็จฯ พระครูธรรมราช (เที่ยง)มีอายุแก่กว่าพระธรรมถาวร ได้เล่าให้ฟังว่า "การเล่าเรียนผงวิเศษ ๕ ประการ คือ ผงอิธะเจ ผงปถมัง ผงมหาราช ผงพุทธคุณ และ ผงตรีนิสิงเห ของเจ้าพระคุณสมเด็จฯนั้น ท่านได้เล่าเรียนมาจาก พระอาจารย์แสง วัดมณีชลขันธ์ ชาวจังหวัดลพบุรี แต่เป็นการเรียนที่จังหวัดอยุธยา จำชื่อวัดไม่ได้เสียแล้ว และพระอาจารย์แสงองค์นี้ เป็นอาจารย์ดั้งเดิมองค์หนึ่งของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ คือตั้งแต่สมัยที่ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯยังเป็นสามเณร แต่ไม่ปรากฎแน่ชัดว่า ท่านได้เริ่มเรียนผงวิเศษ ๕ นี้ตั้งแต่เมื่อปีใด และจะเรียนจากพระอาจารย์แสงที่อยุธยาแห่งเดียวหรือจากสำนักอื่นๆด้วย แต่จำได้ว่าเจ้าพระคุณสมเด็จฯได้อุบายหนีการแต่งตั้งในสมัยร. ๓ โดยมาอยู่กับ พระอาจารย์แสง ที่อยุธยาครั้งหนึ่ง และในครั้งนั้นท่านยังได้สร้าง พระหลวงพ่อโต ที่อยุธยา ต่อจากนั้นก็ยังได้มาสร้างที่วัดระฆังฯอีก ก่อนที่ท่านจะได้สร้างพระสมเด็จ"

พระอาจารย์หิน กล่าวตามที่ทราบจาก พระธรรมถาวร ว่า " บรรดาผู้ที่ช่วยบดผงและพิมพ์พระสมเด็จฯนั้น นอกจากพระธรรมถาวร ศิษย์ผู้ใกล้ชิดยิ่งกว่าผู้อื่นแล้ว ก็ยังมี หม่อมเจ้าพระสมเด็จพระพุฒาจารย์ ทัด สมัยที่ยังทรงเป็น หม่อมเจ้าพระพุทธบาทปิลันทน์ พระธรรมธานาจารย์ แนบ พระธรรมานุกูล ภู พระครูเปี่ยม นอกจากนั้น ก็มีพระภิกษุสามเณรในวัดระฆังฯและเจ้าอาวาสในเขตแขวงที่ขึ้นกับเจ้าพระคุณฯแทบทุกวัด ผลัดกันมาช่วย รวมทั้งชาวบ้านและผู้ที่เคารพเลื่อมใสท่านืตลอดจนชาวจีนในสำเพ็ง"

พระอาทรภัทรพิสิฐ (เล็ก อุณหะนันทน์) ได้เป็นผู้หนึ่งที่ได้สัมภาษณ์ พระธรรมถาวร ที่วัดระฆังฯ เมื่อปีพ.ศ.๒๔๕๗ และพระธรรมถาวรได้เล่าให้ฟังถึง เรื่องผงวิเศษ ๕ ประการของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ เป็นความตอนหนึ่งว่า " การสร้างพระสมเด็จฯนั้น ไม่มีพิธีรีตองอะไรเลย เจ้าพระคุณสมเด็จฯได้ใช้ ผงวิเศษ ๕ ประการ ซึ่งท่านได้เล่าเรียนมาแต่ครั้งยังเป็นสามเณร และเก็บรวบรวมไว้ ได้ประมาณ ๗ บาตร และน้ำมันจันทน์ ซึ่งปลุกเสกเอาไว้ รวมทั้งข้าวสุก ที่ได้จากบิณฑบาตและของอี่นๆ

นายกนก สัชชุกร ได้บันทึกตามคำกล่าวของพระธรรมถาวรว่า " เนื้อที่ใช้สร้างพระสมเด็จฯนั้นแต่เดิมใช้ ผงวิเศษ ๕ ประการ ผงเกสรดอกไม้ ปูนขาว และข้าวสุก เท่านั้น ซึ่งเมื่อถอดพิมพ์และตากแห้งแล้ว ปรากฎว่า เนื้อพระมักจะร้าวและแตกหักเสียเป็นส่วนมาก เพราะความเปราะ ต่อมาเจ้าพระคุณสมเด็จฯได้ทดลองใช้ กล้วยหอมจันทน์ และ กล้วยน้ำ ทั้งเนื้อและเปลือกผสมโขลกลงไปด้วย เมื่อเนื้อพระแห้งแล้ว มีสีเหลืองนวลฯขึ้น และการแตกร้าวลดน้อยลง แต่ก็ยังไม่ได้ผลทีเดียวนัก ในระหว่างที่เจ้าพระคุณสมเด็จฯหมกมุ่นในการแก้ปัญหาเรื่องการแตกร้าวของเนื้อพระ เมื่อตากแห้งแล้วนี้เอง หลวงวิจารณ์เจียรนัย ช่าทองในราชสำนักร.๔ได้มาเยี่ยมเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ท่านจึงหารือขอความเห็นในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ หลวงวิจารณ์จึงได้แนะนำท่าน ให้ทดลองใช้นำ้มันตังอิว ผสมลงไปในเนื้อด้วย คุณภาพของนำ้มันจะช่วยประสานเนื้อได้ดี เมื่อเนื้อพระแห้งแล้ว อาจจะไม่แตกชำรุดอีก เจ้าพระคุณสมเด็จฯจึงได้ทดลองตามคำแนะนำนั้น และได้ผลเป็นที่พอใจ เนื้อพระที่ผสมด้วยน้ำมันตังอิว เมื่อตากแห้งแล้วไม่ปรากฎว่าปริหักเช่นแต่ก่อน ฉะนั้น การสร้างพระต่อๆมาอีกเป็นจำนวนมาก จึงได้ใช้น้ำมันตังอิวผสมด้วยตลอดมา"

นายกนก สัชชุกร เล่าความตอนหนึ่งในการสัมภาษณ์ พระธรรมถาวร ว่า " ครั้นเรียนถามท่านเจ้าคุณว่า พระหลวงพ่อโต เนื้อกระเบื้อง ว่าจะใช่ของซึ่งเจ้าพระคุณสมเด็จฯสร้างหรือมิใช่ ท่านตอบว่าใช่ คือ เจ้าพระคุณสมเด็จฯได้สร้างไว้ ตั้งแต่ยังครองสมณศักดิ์ที่  พระธรรมกิตติแล้วติดแผ่นกระดานไว้ในโบสถ์ ภายหลังเมื่อท่านสิ้นแล้ว มีผู้นิยมกันอยู่ว่ากระบอง จึงพากันมาแกะเอาไปจนหมด"

 เนื้อความตรงนี้แย้งกับข้อความที่ว่า สมเด็จโตสร้างพระเครื่องครั้งแรก เมื่อพระธรรมถาวรบวชได้ ๒ พรรษาและกลับจากเยี่ยมเจ้าเขมร คือในปีพ.ศ.๒๔๐๑ เพราะท่านครองสมณศักดฺิ์ พระธรรมกิตติในช่วงปีพ.ศ. ๒๓๙๕-๒๓๙๖ พระเทพกวี ปีพ.ศ. ๒๓๙๗-๒๔๐๖ สมเด็จพระพุฒาจารย์ พ.ศ.๒๔๐๗-๒๔๑๕  ดังนั้นน่าจะสร้างสมัยท่านครองสมณศักดิ์เป็นพระเทพกวีมากกว่า-อมร ชุติมาวงศ์

หลวงศรีสารบาญ กล่าวว่า ได้รับทราบจากหลวงศุภศิลป์ พระนัดดาของเจ้าฟ้าอิศราพงษ์ อธิบดีกรมช้างวังหน้า ในสมัยร. ๕ (ต่อมาเป็น สมเด็จฯกรมพระบำราบปรปักษ์) ซึ่งทรงดำรัสให้ฟังว่า "มวลสารที่ใช้เป็นเนื้อวัสดุ ในการสร้างพระสมเด็จฯนั้น ส่วนใหญ่เป็นปูนขาว นอกจากนั้นได้ ข้าวสุกและกล้วย ส่วนน้ำมันตังอิว นั้นใช้ผสมเนื้อให้ทนทาน ไม่แตกร้าว นอกจากนั้นก็เป็นเพียงส่วนประกอบ การโขลกเนื้อสำหรับผสม และการกดพิมพ์นั้น กระทำต่อหน้าเจ้าพระคุณสมเด็จฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนท่านฉันเพล ชาวบ้านที่ปรารถนาในการสร้างกุศล ต่างก็มาช่วยท่านโขลกเนื้อ ซึ่งใช้ครกหินขนาดเขื่องหลายครก เจ้าพระคุณสมเด็จฯจะหยิบผงวิเศษในบาตรของท่าน โรยลงไปในครกใบหนึ่ง ภายในครกใบนั้นมีมวลสารวัสดุต่างๆอยู่แล้ว คนที่ประจำครกใบนั้น ก็จะตั้งหน้าโขลกอยู่พักหนึ่ง พอให้ผงวิเศษกับมวลสารต่างๆเข้ากันสนิทดีแล้ว เจ้าพระคุณสมเด็จฯก็จะควักเอาขึ้นมาแบ่งเป็นส่วนๆเท่าๆกัน แล้วเอาไปหยอดลงในครกใบอื่นๆ ซึ่งมีมวลสารวัสดุต่างๆอยู่แล้วเช่นกัน แล้วคนโขลกก็จะโขลกจนเนื้อเข้ากันดี จึงควักเอาออกมาปั้นเป็นก้อนเล็กๆ แล้วกดประทับกับแม่พิมพ์"

พระเทพญาณเวทีหรือพระราชธรรมภาณี (ลมูล สุตาคโม) เจ้าอาวาสวัดระฆังฯ เล่าว่า พระธรรมถาวร เคยกล่าวกับท่านว่า "ครั้งแรกทีเดียวนั้น เจ้าพระคุณสมเด็จฯ สร้างพระสมเด็จแบบหลังเบี้ยขึ้นก่อนเป็นปฐม ต่อมาจึงเป็นแบบกรอบสี่เหลี่ยม เนื้อผง เช่นเดียวกัน ต่อจากนั้นท่านดัดแปลงสร้างเป็น เนื้อดินเผา  กรอบสี่เหลี่ยม แล้วเอาไปถวายเจ้านายในวังต่างๆและบรรดาพระราชวงศ์ ได้แนะนำท่านว่า พระเหล่านั้นทั้งแบบและเนื้อไม่งดงาม สู้เนื้อผงแบบกรอบสี่เหลี่ยมไม่ได้ ดังนั้น ต่อมาท่านจึงไม่สร้างแบบสี่เหลี่ยมเนื้อดินเผาอีก นอกจากนั้นท่านยังได้สร้างแบบสี่เหลี่ยม เนื้อตะกั่วถ้ำชา อีก แต่ชาวบ้านไม่นิยมเหมือนเนื้อผง จึงเป็นเหตุให้ท่านเลิกสร้างพระเนื้อแปลกทั้งสองชนิดนี้อีกต่อไป"

พระธรรมธร กัน กันทโม เจ้าอาวาสวัดหอมทอง ราษฎร์บำรุง ตำบลบางบ่อ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ปัจุบันอายุ ๘๐ ปี ในพ.ศ. ๒๕๐๘ พรรษา ๓๗ พรรษา ได้เล่าให้นายผวน จ้อยชรัด ฟัง ถึงเรื่องโยมผู้ชายของท่านชื่อนายทิม ดาวเรือง ว่าได้บวชเป็นพระอยู่ในวัดระฆังฯ ในสมัยเจ้าพระคุณสมเด็จฯ เรื่องส่วนผสมของเนื้อพระสมเด็จฯนั้นว่า " เมื่อโยมบวชอยู่วัดระฆังฯได้อยู่ที่กุฏิหลวงปู่พลาย ซึ่งอยู่ใกล้ๆกับกุฏิเจ้าพระคุณสมเด็จฯ โยมจึงถูกท่านเรียกให้ไปช่วยตำผงสร้างพระสมเด็จฯ ผงที่ตำเป็นใบลานเผา แต่เจือปนด้วยผงขาวบ้าง และสิ่งที่เหลือฉัน เช่น เปลือกกล้วยหอม ก้างปลา และผลไม้ต่างๆบรรดาที่ชาวบ้านเขาถวายมาในการบิณฑบาตบ้าง นอกจากนั้นก็มีชานหมาก"

นอกจากนี้ เจ้าพระคุณสมเด็จฯยังขยันจารหนังสือ หนังสือที่ท่านจารคืออักขระเลขยันต์ทางพุทธาคม พอมากๆเข้า ท่านก็หอบเอาใบลานที่จารเหล่านั้นมากองสุมไฟเสียคราวหนึ่ง แล้วเก็บเอา ขี้เถ้าใบลานเผา นั้นไว้ ในตอนนั้นใครๆเขาพากันว่าเจ้าพระคุณสมเด็จฯบ้าเสียแล้ว แต่ท่านเก็บผงใบลานเผานั้นไว้บดผสมกับสิ่งอื่นๆสร้างเป็น พระสมเด็จฯดำ ขึ้น และเจือผสมเนื้อขาวสร้าง พระสมเด็จฯเนื้อขาว ขึ้นมากมาย แต่สมัยนั้นไม่ใคร่มีใครสนใจพระสมเด็จฯกันนัก เด็กที่มาช่วยตำผง ท่านก็แจกให้คนละองค์ พรัอมกับบอกว่า "เอ้า อ้ายหนู เอาพระไว้กันหมามันกัด" และโยมทิมก็ได้รับแจก ในคราวช่วยท่านตำผงมาองค์หนึ่งเป็น สมเด็จฯเนื้อผงใบลานเผา สีดำ และได้เก็บไว้จนโยมมีครอบครัว และได้ให้บุตรชายคนหัวปี คือ พี่ชายของอาตมาต่อไป พระสมเด็จฯเนื้อผงใบลานเผาสีดำ ที่ท่านสร้างขึ้นนั้น โยมเล่าว่า พิมพ์ด้วยแม่พิมพ์หินมีดโกน  พิมพ์ได้ครั้งละองค์ พิมพ์แล้วท่านก็ตากไว้ในกระด้ง พอแห้งดีแล้วท่านก็เก็บใส่ย่ามละว้าใหญ่ของท่าน แล้วเอาไว้แจกชาวบ้าน และที่เหลือไม่ทราบว่าท่านเอาไปไว้ที่ไหนหมด

พระอาจารย์ขวัญ กล่าวว่าได้ทราบว่า "เจ้าพระคุณสมเด็จฯได้สร้างพระสมเด็จฯเนื้อชานหมากด้วยคู่กับเนื้อผงใบลานเผา ซึ่งเป็นเนื้อที่แตกต่างไปจากเนื้อปูนขาว สำหรับเนื้อชานหมากเป็น พิมพ์ทรงพระประธาน และเนื้อผงใบลานเผาเป็น พิมพ์ทรงปรกโพธิ์ ซึ่งมี ๒ แบบ คือ ชนิดโพธิ์เมล็ด กับ โพธิ์ใบ และกล่าวว่า เนื้อพิเศษทั้ง ๒ ชนิดนี้ เจ้าพระคุณสมเด็จฯได้ทูลเกล้าถวายร.๕ และทรงได้พระราชทานแจกข้าราชการ ในปีพ.ศ. ๒๔๑๖ ซึ่งเป็นปีที่เรียกกันว่า ปีระกาป่วงใหญ่ ซึ่งหลังจากเจ้าพระคุณสมเด็จฯได้สิ้นแล้วปีหนึ่ง

เนื้อปูนน้ำมัน เป็นเนื้อปูนที่มีลักษณะเนื้อฉ่ำ คล้ายมีน้ำมันอยู่ภายใน แต่มิได้มีลักษณะทำนองเป็นเนื้อเปียก มีวรรณะเหลืองเจือเขียวอ่อน คล้ายเนื้อฟักทองตอนติดเปลือก ลักษณะทางพิมพ์ทรง ก็ทำนองเดียวกับพิมพ์ทรงนิยม แต่ค่อนข้างคมชัดและเน้นเส้นต่างๆมาก ทั้งลักษณะทางเนื้อและพิมพ์ทรง จัดว่าน่าศึกษาค้นคว้า แต่สืบสวนหลักฐานการสร้างไม่ได้เลย จึงเป็นการยากทั้งการปฏิเสธและยอมรับ 

จำนวนพระสมเด็จที่สร้างขึ้น 

พระอาทรภัทรพิสิฐ บันทึกจากคำเล่าของ พระธรรมถาวร ว่า " เมื่อปีพ.ศ.๒๔๕๗ ข้าพเจ้าพร้อมด้วย พระอุดมพันธาภิรมย์ (เจ๊ก) ได้ไปสนทนากับพระธรรมถาวร ท่านเล่าให้ฟังว่า พระสมเด็จฯที่ตากแห้งแล้ว เจ้าพระคุณสมเด็จฯได้บรรจุหีบจีนไว้ แล้วนำไปเก็บไว้บนหอสวดมนต์ และในครั้งแรกสร้างถึง ๘๔,๐๐๐ องค์ เท่ากับจำนวนพระธรรมขันธ์ ต่อมาได้มีการย้ายหีบจีนบรรจุพระไปไว้ที่วิหารน้อย การที่ต้องย้ายที่ ก็เพราะเจ้าพระคุณสมเด็จฯสิ้น และเจ้าหน้าที่ภูษามาลาหลวงต้องการจัดตกแต่งสถานที่บนหอสวดมนต์เป็นที่ตั้งศพ"

นายกนก สัชชุกร ได้บันทึกตามคำบอกเล่าของ พระธรรมถาวร จากการสัมภาษณ์ในครั้งนั้นต่อไปว่า " ในชั้นเดิม เจ้าพระคุณสมเด็จฯตั้งใจว่าจะสร้างพระสมเด็จฯให้ถึง ๘๔,๐๐๐ องค์ ตามคติการสร้างพระเครื่องของบูรพาจารย์ในสมัยโบราณ คือ ให้เท่าจำนวนพระธรรมขันธ์ แต่คงจะสร้างได้ไม่ครบจำนวนนั้น เพราะท่านได้สิ้นเสียก่อน"

นายกนก สัชชุกร ได้บันทึกคำกล่าวของ พระธรรมถาวร และความเห็นส่วนตัวไว้ เป็นความว่า "เจ้าคุณธรรมถาวรเล่าว่า ในโอกาสที่เจ้าพระคุณสมเด็จฯสิ้นนั้น เจ้าหน้าที่ภูษามาลาหลวง ได้นำโกศมาบรรจุศพท่าน เมื่อเห็นว่าบาตรบรรจุพระสมเด็จฯ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ที่นอนของท่าน เกะกะกีดขวางการปฏิบัติงาน จึงได้ผลักไสบาตรเหล่านั้นไปเสียอีกทางหนึ่ง โดยมิได้สนใจแม้แต่น้อย อีกประการหนึ่ง พระสมเด็จฯที่ท่านเจ้าพระคุณได้ถวายเจ้านายและแจกข้าราชการ ตลอดจนชาวบ้านไปแล้ว ในสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยุ่ก็มาก และที่ได้ไปจากวัดระฆังฯเมื่อภายหลังที่ท่านสิ้นแล้วก็มาก แต่ในสมัยนั้นยังไม่เป็นที่สนใจกันนัก"

 "เมื่อท่านเจ้าคุณพระธรรมถาวร ได้กล่าวมาถึงตอนนี้ จึงได้เรียนถามท่านว่า ท่านได้ไว้บ้างหรือไม่ ท่านก็ตอบว่าได้ไว้ครึ่งย่าม จึงได้เรียนท่านต่อไปว่า ไม่ประสงค์จะรบกวนท่านแต่ประการใด นอกจากจะขอดูไว้เป็นตัวอย่าง เมื่อมีโอกาสได้พบเข้าที่ใด จะได้แสวงหามาบูชา แต่ท่านเจ้าคุณบอกว่า ท่านได้แจกลูกหลานไปหมดแล้ว ครั้นเรียนถามท่านต่อไปว่า ท่านทราบบ้างไหมว่า เจ้าพระคุณสมเด็จฯได้บรรจุพระของท่านไว้ที่ใดบ้าง ท่านก็นิ่งเงียบอยู่ครู่หนึ่งแล้วจึงปฏิเสธว่า ไม่ทราบ แต่ท่านก็กล่าวขึ้นมาเปรยๆว่า "เจ้าพระคุณสมเด็จฯท่านชื่อโต ท่านชอบสร้างพระองค์โตๆ"

 "ต่อมาข้าพเจ้าได้ย้ายไปรับราชการแผนกคลังจังหวัดนครปฐม และได้มีโอกาสสนทนากับ หม่อมเจ้ากิติเดชาฯ ซึ่งขณะนั้นรับราชการแผนกสรรพากร จังหวัดเดียวกัน ได้ทรงประทานเล่าให้ฟังว่า ท่านพร้อมด้วย ห่อมเจ้าจิตตโภคทวี และ หม่อมเจ้าอุดมดิเรกลาภ ได้เคยไปหาท่านสมภารวัดอินทรฯ เมื่อหลายปีล่วงมาแล้ว เจ้าอาวาสองค์นั้นชื่ออะไรก็ลืมเรียนถามท่าน ท่านสมภารเล่าให้ฟังว่า เมื่อเจ้าพระคุณสมเด็จฯสร้างหลวงพ่อโตนั้น ท่านได้มานั่งอยู่โคนต้นไม้ริมทางเดินในวัด ดูช่างก่อสร้างองค์พระ และท่านได้นำพระสมเด็จฯใส่ย่ามมาด้วย เมื่อมีคนเดินทางผ่านไปมา ท่านก็ล้วงย่ามหยิบพระสมเด็จฯแจกให้ พร้อมกับกล่าวว่า นี่แน่ะจ้ะ เอาไว้เถอะนะจ้ะ วันหน้าจะหายาก คนเหล่านั้นก็รับแจกไปคนละองค์ เป็นจำนวนมาก แต่ในสมัยนั้นมีคนสนใจน้อย

พระอาจารย์ขวัญ วิสิฏโฐ วัดระฆังฯ ศิษย์ พระธรรมถาวร กล่าวว่า ได้ทราบจากเจ้าคุณอาจารย์ของท่านว่า "ในการสร้างพระสมเด็จฯนั้น สร้างได้ครบ ๘๔,๐๐๐ องค์ แต่การสร้างครั้งหลังได้ไม่ถึง และท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯได้ปรารถกับ นายเทด ว่า  ฉันเห็นจะสร้างพระได้ไม่ครบ ๘๔,๐๐๐ เสียแล้ว จึงให้รวบรวมพระสมเด็จฯรุ่นแรกๆ คัดเอาเฉพาะพิมพ์ทรง ๕ ชั้น ๖ ชั้น ๗ ชั้น เข้ากับพระสมเด็จฯที่สร้างรุ่นใหม่ จนครบ ๘๔,๐๐๐ องค์ บรรจุไว้ในกรุวัดไชโย อ่างทอง เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้โยมมารดา"

จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น ผม-อมร ชุติมาวงศ์ เชื่อถือข้อมูลของพระอาจารย์ขวัญว่า ถูกต้อง เพราะสมเด็จโตสร้างพระครั้งแรก เพราะเจ้าเขมร เพื่อแจกและมอบให้คนทั่วๆไป มีพระหลายแบบหลากพิมพ์ จนมาสร้างพระหลวงพ่อโต ที่วัดไชโย จึงคิดจะสร้างพระบรรจุกรุ เมื่อกรุแตกจึงได้พบพระบางองค์เป็นแบบวัดระฆังฯ

พระอาจารย์หิน กล่าวว่าได้ฟัง พระครูธรรมราช เล่าว่า "หลังจากเจ้าพระคุณสมเด็จฯสิ้นแล้ว ได้มีการย้ายเอาพระสมเด็จฯมากองไว้ที่วิหารน้อย สุดแต่ใครจะมาเอาไป และโยมของท่านอาจารย์ขวัญ ก็ได้ไปเป็นจำนวน ๑ พานขนาดเขื่อง"

สรุป ประวัติการสร้างพระสมเด็จ

๑ สร้างพระสมเด็จครั้งแรกปีพ.ศ. ๒๔๐๑ เจ้าเขมรที่สนิทชิดชอบและเลื่อมใส ในสมเด็จโต คือ นักองค์ด้วง ซึ่งสมเด็จโตไปพระตะบองในปีพ.ศ. ๒๔๐๐

๒ พระสมเด็จ มีมากกว่า ๙ พิมพ์ที่นิยมสะสมกันแน่นอน แต่จะมีถึง ๗๓ พิมพ์หรือไม่ ต้องค้นคว้าศึกษากันต่อไป

๓ พระสมเด็จมีเนื้อหามวลสาร เฉพาะเนื้อผง คือ แบ่งออกได้เป็น ๓ ส่วนคือ 
๓.๑  สารประกอบหลัก ได้แก่ ปูนขาวหรือปูนเปลือกหอยที่กินกับหมาก ดินสอพอง
๓.๒  สารประกอบรอง ได้แก่ ข้าวสุก กล้วย
๓.๓  อนุภาคมวลสาร ได้แก่ ผงวิเศษ ๕ ประการ ดินสอเหลือง ผงเกสรดอกไม้ ใบลานเผา ชานหมาก ปูนขาวที่ล่อนตามกำแพงโบสถ์ (เคยคุยกับคนขายของริมแม่น้ำเจ้าพระยา วัดระฆังฯ เขาเล่าว่า สมัยก่อนเวลาหน้าน้ำ น้ำท่วมขึ้นถึงโบสถ์วัด พอน้ำลดปูนรอบโบสถ์บวมและหลุดล่อน  ถ้าน้ำลดมากสมัยก่อนจะเห็นหอยมีเปลือกสีขาวเต็มพื้นแม่น้ำหน้าวัดระฆังฯ) ตะไคร่น้ำที่ติดอยู่ที่ใบเสมา เศษพระซุ้มกอหรือพระจากกำแพงเพชร รักดำที่หลุดล่อนจากพระพุทธรูป กรวดเทา  ชิ้นส่วนขาวใสและขาวขุ่น จุดเหลือง จุดฟ้า (ยังไม่ทราบว่ามาจากอะไร) นอกจากนี้ถ้าเป็นพิมพ์นิยมจะมี ก้อนผงขาว (ขอปิดเป็นความลับว่าคืออะไร เพื่อป้องกันพวกไม่กลัวตกนรก ปลอมแปลง) นี่คืออนุภาคมวลสารที่สมเด็จโตให้ตำแล้วแบ่งออกไปใส่ครกอื่นๆที่มีสารประกอบหลักและสารประกอบรอง รออยู่ ในการพิมพ์พระสมเด็จ

นอกจากพระสมเด็จเนื้อผง จากข้อมูลดังที่กล่าวมาแล้ว ยังมี เนื้อใบลาน เนื้อชานหมาก เนื้อปูนใส เนื้อกระเบื้อง เนื้อตะกั่วถ้ำชา เนื้อดินเผา เนื้อดินผสมผง แต่มาถึงยุคของเราก็แยกไม่ออกแล้วว่า เป็นพระที่สมเด็จโตสร้างจริงหรือไม่

๔ จำนวนพระสมเด็จนั้น จากหนังสือของพระครูกัลยาณานุกูล บันทึกไว้ว่า " ครั้งแรกเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้สร้างพระสมเด็จครบจำนวน ๘๔,๐๐๐ ครั้งที่ ๒ จะสร้างอีก ๘๔,๐๐๐ เป็นพระชนิด ๗ ชั้น ด้วยประสงค์จะเอาไปบรรจุไว้ที่วัดไชโย จังหวัดอ่างทอง แต่สร้างได้ยังไม่ครบจำนวนที่ต้องการนั้น (จะสร้างได้จำนวนเท่าไรหาทราบไม่) วันหนึ่งท่านบอกกับนายเทศ บ้านถนนดินสอ หลังตลาดบ้านขมิ้น ธนบุรี ว่าพระของท่านเห็นจะไม่แล้ว เพราะท่านจะถึงมรณภาพเสียก่อน จึงให้เอาพระคะแนนร้อยและพระคะแนนพันที่สร้างในครั้งแรก มาเพิ่มเข้ากับพระที่สร้างในครั้งหลังจนครบจำนวน ๘๔,๐๐๐ แล้วเอาไปบรรจุไว้ที่ในพระเจดีย์วัดไชโย ต่อมาไม่ช้าท่านก็ถึงมรณภาพ เพราะเหตุนี้ พระสมเด็จที่กรุวัดไชโย จึงเป็นพระชนิด ๗ ชั้นโดยมาก"

จากหนังสือของ ตรียัมปวาย บันทึกไว้ว่า พระอาจารย์ขวัญ เล่าตามที่ได้ฟังมาจาก พระธรรมถาวร อาจารย์ของท่านที่กล่าวว่า " เมื่อเจ้าพระคุณสมเด็จฯยังเป็นทารกนั้น ท่านมาสอนนั่งได้ที่ ตำบลไชโย อ่างทอง ดังนั้น เมื่อท่านได้ไปสร้างพระพุทธรูปนั่งองค์ใหญ่ ไว้ที่วัดไชโย เพื่อเป็นที่ระลึกแล้ว ท่านจึงได้สร้างพระสมเด็จฯไปบรรจุไว้ที่วัดนั้นด้วย และท่านได้ปรารถขึ้นกับนายเทด หลานชายของท่านในวันหนึ่งว่า ฉันเห็นจะสร้างพระคราวนี้ไม่ได้ครบ ๘๔,๐๐๐ เสียแล้ว ด้งนั้น จึงได้รวบรวมพระสมเด็จฯรุ่นแรกๆที่ได้สร้างไว้เป็นแบบสี่เหลี่ยม ที่มีฐาน ๕ ชั้น ๖ ชั้น และ ๗ ชั้น สมทบเข้ากับรุ่นที่สร้างขึ้นใหม่จนครบจำนวน ๘๔,๐๐๐ องค์ แล้วท่านก็นำไปบรรจุไว้ที่วัดไชโย เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้โยมมารดา สำหรับแบบพิมพ์ ๗ ชั้น รุ่นเดิมของวัดระฆังฯที่นำไปบรรจุพร้อมกับพระรุ่นใหม่นั้น องค์พระมีหูห้อยประบ่าอย่างธรรมดา ส่วนแบบพิมพ์ ๗ ชั้น ที่สร้างครั้งหลัง ซึ่งท่านตั้งใจว่านำไปบรรจุไว้ที่วัดไชโยโดยเฉพาะนั้น หูกางขึ้นไป ซึ่งเรียกว่า หูบายศรี"

จากหนังสือ พระพิมพ์เครื่องรางกับพระพุทธรูปบูชา ของ ร.อ. หลวงบรรณยุทธชำนาญ (สวัสดิ์ นาคะสิริ) บันทึกไว้ว่า " พระสมเด็จพุฒาจารย์ กรุวัดบางขุนพรหม บรรจุกรุเหมือนกัน แม้แต่ยังไม่ได้เปิดกรุ ก็มีผู้นำขึ้นมาได้ (ตกเอา) เป็นจำนวนมาก เมื่อร.ศ. ๑๑๒ พุทธลักษณะทำเป็นพระนั่งขัดสมาธิบนแท่น ๓ ชั้น มีเส้นนูนขึ้นมา ๑ เส้น เป็นรูปโค้งครึ่งวงรูปไข่รอบองค์พระ พิมพ์เป็นหน้าเดียวในรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตั้งขึ้นตามด้านสูงตามเศียรพระ หนาบ้างบางบ้างพองาม ทำด้วยผงดินสอพองที่ปลุกแล้ว ผสมหินขาว (หินขาวที่นำมาทำปูนที่กินกับหมาก) สีจึงขาวเหมือนงาช้าง พระสมเด็จดำก็มีเหมือนกันแต่นอกกรุ ทำด้วยผงผสมใบลานเผา บางองค์ลงรักปิดทอง ที่เรียกว่า พระคะแนน แต่มีน้อย พระสมเด็จฯที่มิได้บรรจุกรุมีมาก ทำแล้วแจกไปทีเดียว เรื่องพระสมเด็จพุฒาจารย์มีมากมายหลายชนิด เนื้อก็มีต่างๆกัน มีทั้งนั่ง ทั้งยืน ทั้งนอน เหลือที่จะบันทึกลงไว้ให้หมดได้ ขอผู้สนใจจงพิจารณาต่อเอาเองเถิด"

จากข้อมูลดังกล่าว พระสมเด็จที่สมเด็จโตได้สร้าง ครั้งที่ ๑ จำนวน ๘๔,๐๐๐ องค์ ครั้งที่ ๒ พิมพ์หูบายศรีกับพิมพ์รุ่นใหม่บรรจุกรุวัดไชโย และมีการสร้างต่อจากนั้นอีก ปัจจุบันวงการพระเครื่องเล่นหาและสะสมกันเฉพาะพิมพ์ของหลวงวิจารณ์เจียรนัย ซึ่งมีจำนวนไม่กี่พันองค์เท่านั้น เพราะอะไร แล้วพิมพ์ที่ไม่ใช่ของหลวงวิจารณ์ เป็นพิมพ์อะไรและมีเนื้อหาอย่างไร น่าค้นคว้าและศึกษาติดตามหรือไม่ เพราะสมเด็จโตกล่าวไว้ว่า "คนใดมีศีล มีธรรม ปฏิบัติสมาธิ จะมีพระของฉันไว้ใช้นะจ๊ะ" ท่านธัมมวิตักโก (พระยานรรัตนราชมานิต) วัดเทพศิรินทราวาส ได้ยกย่องพระเครื่องของสมเด็จวัดระฆัง (โต พรหมรังสี) ว่า "เป็นพระเครื่องที่ดี เพราะสมเด็จวัดระฆังสามารถถ่ายทอดอำนาจจิตลงในพระเครื่องของท่านได้มาก และด้วยความบริสุทธิ์ของท่านทำให้อำนาจจิตนั้นไม่เสื่อมง่าย"




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น