สมเด็จวัดระฆังพิมพ์ทรงปรกโพธิ์

พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ทรงปรกโพธิ์

ที่มาของพระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ทรงปรกโพธิ์

๑ ข้อมูลจากสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชา
๒ ข้อมูลจากพระครูกัลยาณานุกูล
๓ ข้อมูลจากตรียัมปวาย
๔ ข้อมูลจากนายพร้อม สุทัศน์ ณ อยุธยา
๕ ข้อมูลจากประชุม กาญจนวัฒน์
๖ ข้อมูลจากเทพศรี
๗ ข้อมูลจากผ.ศ.รังสรรค์ ต่อสุวรรณ
๘ ข้อมูลจากผ.อ.อรรถภูมิ บุณยเกียรติ
๙ ข้อมูลจากประสบการณ์ตรงและจริงของอมร ชุติมาวงศ์

ที่มาของพระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ทรงปรกโพธิ์

สืบเนื่องจากการไปขอฤกษ์ขึ้นบ้านใหม่ในปีพ.ศ. ๒๕๓๔ พระอาจารย์หลวงพ่อกิตติมา คณะ ๒ วัดปรินายก ได้กล่าวคำทำนายทายทักว่า "บ้านโยม มีพระสมเด็จฯอยู่แล้ว ๒ องค์ แต่โยมจะได้พระสมเด็จ วัดระฆังฯอีก ๑ องค์ " จากนั้นก็ได้มา (รายละเอียดอยู่ในบทความความเป็นมา ๑ และ ๒) แต่เมื่อนำพระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ปรกโพธิ์ องค์ที่ได้มาตามคำทำนายทายทัก เข้าสู่วงการเซียนพระ กลับมีแค่ ๓ เซียนใหญ่เท่านั้น คือ ๑ มงคล เมฆมานะ หรือมังกรตาเดียว เนี้ยวสำโรง ๒ พิศาล เตชะวิภาค หรือ ต้อย เมืองนนท์ ๓ บรรจง จงปัญญางาม จั๊ว ตลาดพลู ที่ยืนยันว่าเป็นพระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ทรงปรกโพธิ์ 

พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ปรกโพธิ์ ที่ได้มาตามคำทำนาย

พระสมเด็จ วัดระฆัง พิมพ์ทรงปรกโพธิ์ เป็นพระพิมพ์ที่แสดงสัญญลักษณ์ ในคืนวันการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ ท่านได้ทราบถึงเรื่องราวของชีวิต การเวียนว่ายตายเกิดของสรรพสัตว์ ยืนยันทางปริยัติหรือทฤษฎี โดยศึกษาทำความเข้าใจได้ในหมวดธรรมว่าด้วย ปฎิจจสมุปบาท ยืนยันทางปฏิบัติหรือเข้าทดลองด้วยตนเอง โดยเดินจงกรม นั่งสมาธิและเจริญสติสัมปชัญญะ แล้วท่านทั้งหลายก็จะได้รับปฏิเวธหรือผลนั้น คือ รู้ ตื่นและเบิกบาน 

พระพุทธเจ้าได้สอนหลักความเชื่อหรือกาลามสูตร ไว้ว่า 
๑ อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการฟังตามกันมา
๒ อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการถือสืบๆกันมา
๓ อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการเล่าลือ
๔ อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์
๕ อย่าปลงใจเชื่อ เพราะตรรก
๖ อย่าปลงใจเชื่อ เพราะอนุมาน
๗ อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล
๘ อย่าปลงใจเชื่อ เพราะเข้าได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว
๙ อย่าปลงใจเชื่อ เพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้
๑๐ อย่าปลงใจเชื่อ เพราะนับถือว่า สมณะนี้เป็นครูของเรา

จนกว่าท่านจะสืบค้นไปถึงเหตุและปัจจัยในเรื่องนั้นๆ ต่อเมื่อใด รู้เข้าใจด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านั้น เป็นอกุศล เป็นกุศล มีโทษ ไม่มีโทษ แล้ว จึงควรละหรือปฏิบัติตามนั้น ...............................................
นี่คือ ความจริงสมเด็จโต ซึ่งผมใช้เวลาในชีวิต โดยมีประสบการณ์ตรงและความจริง มาตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๓๔  ที่ค้นคว้าและได้มาจากข้อมูล




๑ จากข้อมูลของสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย น่าสนใจและน่าศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับ พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ทรงปรกโพธิ์ หรือไม่ครับ ทั้งๆที่หนังสือในวงการพระเครื่องตลอดมา มีการยืนยันว่า สมเด็จโต สร้างพระของท่านขึ้นหลายพิมพ์ และหนึ่งในจำนวนพิมพ์เหล่านั้นมีพิมพ์ปรกโพธิ์อยู่ด้วย แต่ปัจจุบัน  พิมพ์ปรกโพธิ์ได้ถูกตัดออกจากการเล่นหาสะสมหรือการประกวดของสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทยไปแล้วด้วย เพราะอะไร อ้างว่า มีน้อย หายาก แต่หาองค์จริง ต้นแบบไม่ได้เลยแม้แต่องค์เดียว มีอยู่องค์หนึ่งนานมาแล้ว ในวงการบอกว่าเป็นองค์ครู แต่ในหมู่เซียนใหญ่ก็ยังเสียงแตก ว่าใช่หรือไม่ใช่พระของสมเด็จโต แต่สมาคมผู้นิยมพระเครื่ิองพระบูชาไทย ก็ยังนำภาพพระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ปรกโพธิ์ลงในสาระพระเครื่อง/สารานุกรมพระเครื่อง/รายละเอียด ของสมาคมฯในหน้าเว๊ป พระสมเด็จฯ วัดระฆังโฆสิตาราม โดยระบุ แม่พิมพ์พระสมเด็จฯ วัดระฆัง มีทั้งหมด ๕ พิมพ์ คือ

๑ พิมพ์ใหญ่ (พิมพ์พระประธาน)

๒ พิมพ์ฐานแซม






๓ พิมพ์เจดีย์






๔ พิมพ์ปรกโพธิ์


 
พระสมเด็จวัดระฆังองค์ครู พิมพ์ปรกโพธิ์



๕ พิมพ์เกศบัวตูม





๒ จากข้อมูลหนังสือตำราของพระครูกัลยาณานุกูล บันทึกไว้ว่า เจ้าคุณพระราชธรรมภาณี (ลมูล สุตาคโม) เจ้าอาวาสวัดระฆังฯ ได้รับคำบอกเล่าจากนางเปลื้อง พุธจำเนียร (คนทำครัวของเจ้าคุณธรรมถาวร บ้านเลขที่ ๗๑๔ หลังวัดระฆังฯ ธนบุรี อายุ ๗๐ ปี ในพ.ศ. ๒๔๙๕ ซึ่งอ้างว่าเจ้าคุณธรรมถาวรเล่าให้ฟัง) ว่า " ต่อมาสมเด็จโต ใช้ดินสอขาวที่ทำเป็นแท่งแล้ว ลงอักขระลบเอาผง เก็บประสมไว้จนพอแก่ความต้องการ ท่านจึงให้ไปแกะกะเทาะปูนขาวที่ล่อนๆตามกำแพงโบสถ์บ้าง สีมาบ้าง ซึ่งมีตะไคร่น้ำติดอยู่เป็นส่วนมาก แล้วเอามาตำประสมกับดินสอขาวที่ท่านทำไว้ แล้วจึงพิมพ์ ทีนี้พิมพ์เป็นรุป ๔ เหลี่ยมผืนผ้าเป็นพระชนิดปรกโพธิ์ ชนิดทรงเจดีย์ และชนิดอื่นๆ จึงไดัความว่า บางองค์เนื้อเจือเขียวเล็กน้อย เมื่อหักออกดู จะเห็นผงดำๆติดอยู่ประปราย จึงให้ได้สันนิษฐานว่า ที่เนื้อติดจะเขียวเล็กน้อยนั้น ก็เพราะกะเทาะปูนขาวที่เอามาตำนั้น เมื่อส่วนประสมที่เจือด้วยของเหลว ตะไคร่น้ำก็คลายความดำของมันออกประสมกับผงที่ประสมนั้นๆ ที่เนื้อมีผงสีดำติดอยู่ประปราย ก็เพราะตะไคร่น้ำนั้นไม่ได้ถูกย่อยจนละเอียดโดยสิ้นเชิงนั่นเอง

๓ จากข้อมูลตำราของ ตรียัมปวาย บันทึกไว้ว่า พระอาจารย์ขวัญลูกศิษย์เจ้าคุณธรรมถาวรกล่าวว่า ได้ทราบว่า " เจ้าพระคุณสมเด็จฯได้สร้างพระเนื้อชานหมากด้วยคู่กับเนื้อผงใบลานเผา ซึ่งเป็นเนื้อที่แตกต่างไปจากเนื้อปูนขาว สำหรับเนื้อชานหมากเป็น พิมพ์ทรงพระประธาน และเนื้อผงใบลานเผาเป็นพิมพ์ทรงปรกโพธิ์ ซึ่งมี ๒ แบบ คือ ชนิดโพธิ์เมล็ด กับ โพธิ์ใบ และกล่าวว่าเนื้อพิเศษทั้ง ๒ ชนิดนี้ เจ้าพระคุณสมเด็จฯได้ถวายร. ๕ และได้ทรงพระราชทานแจกข้าราชการ ในปีพ.ศ. ๒๔๑๖ ซึ่งเป็นปีที่เรียกกันว่า ปีระกาป่วงใหญ่ ซึ่งหลังจากเจ้าพระคุณสมเด็จฯได้สิ้นแล้วปีหนึ่ง" พระอาจารย์ขวัญ กล่าวจากการที่ได้ทราบและได้เห็นพระจากพระธรรมถาวรว่า "พระสมเด็จฯมีอยู่มากมายหลายแบบพิมพ์ ถ้าจะกล่าวเฉพาะชนิดพิมพ์สี่เหลี่ยม ก็มากพิมพ์ เช่น พิมพ์....... พิมพ์ปรกโพธิ์..............."

นายกนก สัชชุกร ได้ทราบจากการสัมภาษณ์ พระธรรมถาวร โดยท่านกล่าวว่า " แบบแม่พิมพ์ที่ใช้สร้างพระสมเด็จฯมีประมาณ ๕ แบบด้วยกัน คือแบบ ๓ ชั้น แบบ ๕ ชั้น แบบ ๖ ชั้น แบบ ๗ ชั้น และแบบปรกโพธิ์"

จากตำรา ตรียัมปวาย ได้บันทึกไว้ว่า สำหรับพิมพ์ทรงปรกโพธิ์มีเรื่องราวอัศจรรย์ปรากฎอยู่ ดังนี้

พิมพ์ทรงปรกโพธิ์หลังติดแผ่นกระดาน พระสมเด็จฯพิมพ์ทรงนี้ เท่าที่ปรากฎสำหรับวัดระฆังฯ มักจะถูกลงรักน้ำเกลี้ยงหรือลงทองร่องชาดเอาไว้ และด้านหลังจะมีรอยรักเก่ายาติดกับแผ่นกระดาน ตามประวัติที่เล่าสืบกันมาว่า เจ้าพระคุณสมเด็จฯเมื่อได้สร้างพระสมเด็จฯพิมพ์ทรงนี้แล้ว ท่านได้ติดไว้กับแผ่นกระดาน และแผ่นหนึ่งๆจะติดพระไว้ประมาร ๒๐ องค์ เพื่อเตรียมจะเอาไว้ประดับพระอุโบสถหรือที่ใดที่หนึ่ง ไม่ทราบแน่ชัด แต่ยังมิได้กระทำอย่างหนึ่งอย่างใด ท่านก็สิ้นเสียก่อน ต่อมา เจ้าสัวสอน ขุนบาลหวย ก.ข. สมัยร.๕ (คนละคนกับเจ้าสัวหง) มาได้แผ่นกระดานติดพระสมเด็จฯพิมพ์ทรงปรกโพธิ์ ไปจากวัดระฆังฯแผ่นหนึ่ง และได้เอาแผ่นกระดานที่มีพระสมเด็จฯติดอยุ่นั้น ติดไว้บนหน้าจั่วบ้าน เพื่อความศิริมงคล เพราะเจ้าสัวมีความเคารพเลื่อมใสเจ้าพระคุณสมเด็จฯเป็นอันมาก ต่อมาเมื่อเจ้าสัวสอนถึงแก่กรรม ทางครอบครัวได้รื้อเรือนหลังนั้นถวายวัดจักรวรรดิ์ฯ แผ่นกระดานซึ่งมีพระสมเด็จฯติดอยู่ จึงตกไปอยู่วัดจักรวรรดิ์ฯด้วย ต่อมาจึงได้มีผู้พยายามแกะพระสมเด็จฯเหล่านั้นออกจากกระดาน แต่เนื้อรักนั้นยาติดแน่นหนามาก จึงทำให้พระแตกหักชำรุดไปหลายองค์ จึงได้มีผูืคิดวิธีใหม่ขึ้นได้ โดยใช้การตัดแผ่นกระดานตามแนวขอบพระ และฝนเนื้อไม้ทั้งด้านหลังและด้านข้างจนบาง จึงคลายความเทอะทะลงไป ดังนั้น พระสมเด็จพิมพ์ทรงนี้ ซึ่งได้รับการเกลาความหนาของแผ่นกระดานออกแล้ว เมื่อพิจารณาด้านข้าง จะเห็นเป็น ๓ ชั้น คือ เนื้อพระสีขาว หรือ เป็นสีลงทองร่องชาด เนื้อรักสีดำ ที่ใช้ติดพระกับแผ่นกระดานและเนื้อกระดาน

การลงทองร่องชาด เท่าที่ปรากฏแน่นอนได้แก่ พิมพ์ทรงปรกโพธิ์ ซึ่งเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ลงทองล่องชาดไว้จำนวนหนึ่ง แล้วเอารักทาด้านหลัง เพื่อติดกับแผ่นกระดาน เพื่อเตรียมจะประดับอุโบสถ แต่ยังไม่ได้ทำตามที่ตั้งใจไว้ ท่านก็สิ้นเสียก่อน ดังได้กล่าวแล้วในเรื่องพระสมเด็จพิมพ์ปรกโพธิ์

๔ จากข้อมูลหนังสือตำรา พระพิมพ์และพระเครื่องรางของไทย เขียนโดยนายพร้อม สุทัศน์ ณ อยุธยา อดีตกรรมการสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ ประจำจังหวัดราชบุรี พิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๙๙ หน้า ๒๐๑ บันทึกไว้ว่า " พิมพ์ทรงปรกโพธิ์ พิมพ์ทรงปรกโพธิ์นี้ ชนิดทำด้วยผงสีขาวมีน้อยมาก จะเป็นเพราะเหตุใดก็เหลือเดา พิมพ์ทรงปรกโพธิ์ที่เห็นกันอยู่โดยมาก เป็นพระเลียนแบบเกือบ ๙๐% เพราะส่วนใหญ่เป็นผงกระดาษข่อยสีดำ ใบลานเผาและผงอื่นๆผสม ที่มีสีขาว เช่น พิมพ์ทรงอื่นๆมีน้อยมาก และแม้เป็นสีดำ ส่วนมากไม่สู้หนา ขนาดพระและกรอบเล็กกว่าพิมพ์ทรงอื่นๆ เพราะมีน้อย คนทั้งหลายจึงไม่นิยม โดยที่หากันไม่ค่อยจะได้ สำหรับผงสีดำหาได้ง่ายกว่าผงสีขาว และสีดำยังมีขนาดเล็กอีกด้วย

๑ ขนาดพระย่อมกว่าพิมพ์ทรงเจดีย์
๒ พระเกตุมีทั้งเกตุตุ้ม (เศียรบาตร)และพระเกศยาว แต่ไม่จรดซุ้ม
๓ พระเศียรเล็กลงตามส่วนขององค์พระ้
ลักษณะอี่นๆ เช่น พระอังสา พระพาหา พระเพลา มีลักษณะเช่นเดียวกับพิมพ์ทรงอื่นๆ พิมพ์ทรงใหญ่ ไม่เคยเห็นมี พระพิมพ์นี้ มักมีพระกรรณเป็นส่วนมากและมักมีสังฆาฏิด้วย
๔ ซุ้ม ซุ้มมีลักษณะสอบน้อยและมีช่วงสั้นตามส่วน

๕ จากข้อมูลหนังสือตำราของ ประชุม กาญจนวัฒน์ ปีพ.ศ. ๒๕๒๓ บันทึกไว้ว่า " พระสมเด็จวัดระฆังฯ พิมพ์ปรกโพธิ์  อันที่จริงแล้ว พระสมเด็จฯ พิมพ์ปรกโพธิ์ พิมพ์นี้จัดว่าเป็นพระสมเด็จที่งดงามประทับใจอีกพิมพ์หนึ่งทีเดียว จากการที่เป็นของที่สร้างไว้น้อย จนเป็นพระที่ เข้าไม่ถึงนักเลงพระ นี่เอง ความอลังการที่ควรไขว่คว้าไว้สำหรับนักสะสมพระสมเด็จ จึงมีอันต้อง หย่อนความนิยม ลงไป เพราะหายาก และจากการมีลักษณะพิมพ์ที่แตกต่างไปกว่าพระพิมพ์อื่นๆนั่นเอง การเรียกชื่อพระสมเด็จพิมพ์นี้ จึงกล่าวขานกันตามลักษณะได้โดยไม่เขินว่า พระสมเด็จฯ พิมพ์ปรกโพธิ์ เพราะพิมพ์ดังกล่าวมี โพธิ์ มาร่วมอยู่ด้วย ก็เห็นจะมีพระพิมพ์นี้เพียงพิมพ์เดียวเท่านั้นที่ไม่เหมือนใคร


ดังนั้น การใช้ข้อสังเกตุ เพื่อจะเรียกพระพิมพ์นี้ได้ถูกต้อง ก็เป็นอันตกไป เพราะใครเห็น ก็มักจะบอกได้ทันทีว่านั่นคือ " พระพิมพ์ปรกโพธิ์" ที่จะติงกันไว้เป็นความรู้ ก็เรื่องพระพิมพ์ปรกโพธิ์ ที่กรุบางขุนพรหมก็มี (เข้าใจว่าจะมีแต่พระกรุใหม่เท่านั้น) ด้วยเท่านั้นเอง พระพิมพ์ปรกโพธิ์ของวัดระฆังฯนี้ มิใช่ว่าที่กรุบางขุนพรหมจะมีน้อย (ประมาณ ๕ องค์) แต่เพียงแห่งเดียวก็หาไม่ แม้ที่วัดระฆังฯเอง พระสมเด็จพิมพ์นี้ก็เชื่อกันว่า จะมีอย่างมากก็ประมาณ ๑๐๐-๒๐๐ องค์ เท่านั้น (จาก ๕ พิมพ์ของวัดระฆังฯ พิมพ์นี้หาชมยากที่สุด






พระสมเด็จวัดระฆังฯ " พิมพ์ปรกโพธิ์" เป็นพระเครื่องที่มีอิทธิพลมาจากพิมพ์ฐานแซม พิมพ์ทรงเจดีย์ และพิมพ์เกศบัวตูม เข้าผสมกันแต่ละพิมพ์ โดยมีร่มโพธิ์ปรากฎแผ่กิ่งก้านสาขาอยู่เหนือพระเศียรองค์พระ ด้วยใบโพธิ์ไม่ค่อยจะชัดเจนนักประมาณไม่เกิน ๒๐ ใบ ซึ่งจะมีทั้งขนาดใหญ่และเล็ก เช่น ก."ปรกโพธิ์แบบฐานแซม" ลักษณะองค์พระจะตรงกับพระสมเด็จพิมพ์ฐานแซม แต่มีปรกโพธิ์เพิ่มอยู่เหนือพระเศียรเท่านั้น ปรกโพธิ์แบบนี้ขนาดใหญ่ชลูดกว่า และอีกขนาดคือ ข. "ปรกโพธิ์แบบทรงเจดีย์ผสมเกตุบัวตูม" พระสมเด็จแบบนี้จะมีขนาดเล็กลงไปกว่าแบบ ก. อีกเล็กน้อยเท่านั้น

พระพิมพ์นี้ การประทับนั่งจะมีทั้ง แบบสมาธิขัดเพชรและแบบขัดราบ นอกจากปรากฎแต่ชนิดเนื้อค่อนข้างหยาบและนุ่มแล้ว พระส่วนมากมักจะมีการลงรักปิดทองหรือลงชาดไว้ด้วย ความหนาจะมีตั้งแต่ ๓ ถึง ๔ ม.ม. สำหรับความกว้างยาวคือ ๒ คูณ ๓.๑ ซ.ม. จนถึง ๒.๑ คูณ ๓.๓ ซ.ม.


๖ จากข้อมูลหนังสือตำรา ข้อสังเกตุ พระเครื่องสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังษี เล่ม หนึ่ง ของ เทพศรี เมื่อปีพ.ศ.๒๕๓๔ บันทึกไว้ในหน้าที่ ๒๑๒ ภาพที่ ๙๓ ว่า


พระสมเด็จบางขุนพรหม พิมพ์ปรกโพธิ์ (โพธิ์ใบ) กรุเก่า เป็นพระสมเด็จประเภทเนื้อหนึกแกร่ง (ลักษณะเนื้อปูนแกร่ง) มีส่วนผสมของปูนเปลือกหอยล้วน วัสดุอย่างอื่น เช่น เนื้อว่าน เกสรดอกไม้ จะไม่มีผสมอยู่เลย วรรณออกสีขาวขุ่น พระพักตร์ผลมะตูม พระเกศบัวตูมเป็นชั้น หูห้อยประบ่า ใบโพธิ์เป็นโพธิ์ใบ พระอุระ วงแขนได้สัดส่วน มีสังฆาฏิพาด เนื้อพระละเอียดแห้งสนิท มีคราบสีน้ำตาล คราบกรุจับเกาะบริเวณพื้นราบทั่วไป  องค์พระ ฐานทั้ง ๓ และซุ้มครอบแก้วสวยงาม ริมขอบทั้ง ๔ ด้านและด้านหลัง สมบูรณ์ไม่ชำรุดเสียหาย มีคราบกรุบางๆจับเกาะอยู่ตามพื้นราบ พระสมเด็จองค์นี้ยังไม่ได้ผ่านการใช้ ถูกนำขึ้นจากกรุ ก่อนเปิดกรุเป็นทางการ พ.ศ.๒๕๐๐ แต่ไม่ใช่รุ่นตกเบ็ดครั้งแรกๆ (พ.ศ.๒๔๒๕, ๒๔๓๖, ๒๔๕๐) เพราะเริ่มมีคราบกรุและมูลกรุจับอยู่ตามพื้นผิวพระแล้ว


โปรดสังเกตุพระสมเด็จองค์นี้ เปรียบเทียบกับพระสมเด็จภาพที่ ๙๔ องค์ถัดไป พิจารณาดู พิมพ์แตกต่างไม่เหมือนกัน แต่มวลสารวัสดุที่เป็นส่วนผสมเนื้อพระอย่างเดียวกัน สร้างในเวลาเดียวกัน ในด้านแบบพิมพ์ทรง สันนิษฐานว่า เสมียนตราด้วงได้ให้ช่างราษฎร เป็นผู้ออกแบบแกะแม่พิมพ์ ล้อแบบพิมพ์พระสมเด็จวัดระฆัง ความสวยงามประณีตสู้ช่างหลวงที่ออกแบบแกธแม่พิมพ์พระสมเด็จวัดระฆังไม่ได้


๗ จากข้อมูลหนังสือตำรา precious vol 28 1998 หรือ พ.ศ.2541ของ ผ.ศ. รังสรรค์ ต่อสุวรรณ ได้บันทึกเรื่องราวของ พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม (วัดใหม่อมตรส) พิมพ์ปรกโพธิ์ ในคอลัมน์ ดูแบบเซียน ไว้ว่า


สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่เคารพ precious magazine ฉบับที่ 28 จะมาพูดกันถึงพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม (วัดใหม่อมตรส) พิมพ์ปรกโพธิ์ ซึ่งเป็นพิมพ์สุดท้ายที่ precious magazine จะกล่าวถึง อันที่จริงเมื่อปีพ.ศ.๒๕๐๐ วันที่วัดใหม่อมตรสได้เปิดกรุพระเจดีย์ในวัดและลำเลียงพระเครื่องในกรุพระเจดีย์ขึ้นมานั้น มีพระอีกมากมายที่ไม่ใช่พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม (วัดใหม่อมตรส) แต่เป็นพระที่สร้างขึ้นจากวัดอื่นๆ อาทิ พระสมเด็จวัดไชโย พิมพ์เจ็ดชั้น พระหลวงปู่ปั้น พิมพ์ทรงกรวย วัดสะพานสูง (บางซื่อ) และพระเครื่องอีกหลายพิมพ์ที่ไม่เคยปรากฎที่มาของวัด จึงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพระที่ท่านเจ้าประคุณวัดใหม่อมตรสได้สร้างขึ้นและบรรจุในกรุพระเจดีย์ที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จโตได้สร้างไว้และถูกคนทั่วไปใช้กรรมวิธีตกเบ็ดได้ไปหมดแล้ว เช่น พระสมเด็จ พิมพ์ไสยาสน์ เป็นต้น แต่มีพระเป็นจำนวนน้อยมาก อีกทั้งวงการพระเครื่องเมืองไทยไม่ยอมรับว่า เป็นพระเครื่องที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จโตสร้างขึ้นครับ สำหรับรายละเอียดทางวิชาการนั้น กระผมคงต้องเรียนปรึกษาหรือเรียนถามจากคุณนิรนามครับ


คุณนิรนาม


อันที่จริงเรื่องราวทางวิชาการเกี่ยวกับพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม น่าจะจบลงแค่พิมพ์ฐานคู่เท่านั้น เพราะเป็นพิมพ์ที่มาตรฐาน สามารถขุดพบในกรุพระเจดีย์ของวัดบางขุนพรหมตั้งแต่ในสมัยที่ตกเบ็ดขึ้นมาได้เป็นเวลาร้อยปีมาแล้ว สำหรับพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์อื่นๆ เช่น พิมพ์ปรกโพธิ์หรือพิมพ์ไสยาสน์นั้น ไม่เคยปรากฎในกรุพระเจดีย์ตั้งแต่ในสมัยกรุตกเบ็ด เพียงพบพิมพ์ทั้ง ๒นี้ เฉพาะเมื่อสมัยเปิดกรุพระเจดีย์ในปีพ.ศ.๒๕๐๐ เท่านั้นครับ


ผ.ศ.รังสรรค์


คุณนิรนามครับ กระผมขอเรียนถามถึงเรื่องราวเกี่ยวกับ พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ปรกโพธิ์ อีกสักครั้งว่า มีความเห็นทางวิชาการเป็นอย่างไรบ้างครับ


คุณนิรนาม


พระสมเด็จวัดระฆังฯ พิมพ์ปรกโพธิ์ เป็นพระสมเด็จที่ถกเถียงกันมากที่สุดในวงการพระเครื่อง พระบูชาและเหรียญคณาจารย์ บางท่านก็จัดให้เป็นพิมพ์ของพระสมเด็จวัดระฆังฯ พิมพ์ปรกโพธิ์ ที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จโตเป็นผู้สร้าง แต่บางท่านก็ไม่ยอมรับ เพราะขาดหลักฐานยืนยันและไม่มีเอกลักษณ์อันสำคัญของพระสมเด็จวัดระฆังโฆษิตาราม เหมือนเช่น พระสมเด็จพิมพ์ใหญ่ พิมพ์ทรงเจดีย์ พิมพ์ฐานแซมและพิมพ์เกศบัวตูม เอกลักษณ์ของพระสมเด็จวัดระฆังฯดังกล่าว เช่น มวลสารพุทธคุณ การตัดขอบทั้ง ๔ ด้าน ความหดตัวของมวลสารจนปรากฎร่องรอยของเม็ดพระธาตุ รอยรูพรุนเข็ม รอยหนอนด้น รอยปูไต่ และรายละเอียดอื่นๆอีกหลายประเด็น จึงทำให้วงการพระเครื่องไทยเราไม่ยอมจัดให้พิมพ์ปรกโพธิ์ เป็นพิมพ์มาตราฐานของพระสมเด็จวัดระฆังฯ ที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จโตเป็นผู้สร้างครับ


ผ.ศ.รังสรรค์


ทำไมพระสมเด็จวัดระฆังฯ พิมพ์ปรกโพธิ์ จึงได้โด่งดังมาก ทั้งๆที่ไม่เคยมีใครเห็นและไม่มีคนยอมรับว่าเป็นพระสมเด็จที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จโตเป็นผู้สร้าง


คุณนิรนาม


พระสมเด็จวัดระฆังฯ พิมพ์ปรกโพธิ์ มาโด่งดังมากในสมัยที่พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม เปิดกรุเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๐ และพบพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม เป็นพิมพ์ปรกโพธิ์ ผู้คนจึงแตกตื่นว่าน่าจะมีพระสมเด็จวัดระฆัง ฯ พิมพ์ปรกโพธิ์ครับ


ผ.ศ. รังสรรค์


คุณนิรนามครับ ทราบมาว่า หลวงพ่อเล็ก ท่านเจ้าอาวาสวัดระฆังฯในยุคหลัง ได้สร้างพระสมเด็จวัดระฆังฯ พิมพ์ปรกโพธิ์ขึ้น 


คุณนิรนาม


ก็ทราบมาเหมือนกันครับว่า หลวงพ่อเล็กเคยสร้างพระปรกโพธิ์ของวัดระฆังฯ เป็นพิมพ์ค่อนข้างสวยมาก เนื้อมวลสาร ก็ได้ใช้กรรมวิธีของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์โต มาถึงปัจจุบันอายุหลายสิบปี จึงเป็นพระที่พุทธศาสนิกชนมีความนิยมกันมากเช่นกัน เราเรียกว่า " พระวัดระฆังโฆสิตาราม พิมพ์ปรกโพธิ์" เราไม่เรียกว่าพระสมเด็จ เพราะหลวงพ่อเล็กท่านไม่ได้เป็นถึง "สมเด็จ"ครับ


ผ.ศ.รังสรรค์


สำหรับพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์ปรกโพธิ์นั้น คุณนิรนามได้โปรดชี้แจงในทางวิชาการด้วยครับ


คุณนิรนาม


พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์ปรกโพธิ์นั้น เป็นพระที่ขุดพบในกรุพระเจดีย์ สมัยที่เปิดกรุในปี พ.ศ.๒๕๐๐ แต่พระมีจำนวนน้อยมาก และพระสมเด็จอยู่ในสภาพที่ชำรุดและแตกหัก พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์ปรกโพธิ์ทุกองค์ จึงมีการซ่อมแซมและตกแต่งใหม่ ช่างที่ทำการซ่อมแซมนั้น ก็ไม่มีพิถีพิถันละเอียดเพียงพอ จึงทำให้พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์ปรกโพธิ์ทุกองค์ มีรายละเอียดของพุทธลักษณะที่ผิดเพี้ยนไปบ้างเกือบทุกองค์ และเนื่องเพราะจำนวนพระมีน้อยมาก และพระที่สมบูรณ์จริงๆไม่มี จึงเป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งที่พระสมเด็จพิมพ์ปรกโพธิ์ เป็นพระสมเด็จที่ไม่นิยมเท่าที่ควรนัก


ผ.ศ.รังสรรค์


อันที่จริงพระนามว่า พิมพ์ปรกโพธิ์ค่อนข้างจะเป็นพระนามที่น่าเลื่อมใสมาก คุณนิรนามช่วยอธิบายที่มาของศิลปะแม่พิมพ์ด้วยครับ


คุณนิรนาม


พระนามว่า " พิมพ์ปรกโพธิ์" มาจากพระพุทธศิลป์เป็นองค์พระปางสมาธิใต้ร่มโพธิ์บัลลังก์ โดยประดิษฐานในซุ้มครอบแก้ว อันเป็นสัญลักษณ์แห่งการบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณของพระพุทธองค์ และศิลปพระพุทธรูปใต้ร่มโพธิ์นี้ ได้รับความนิยมในการจำลองเป็นพิมพ์พระเครื่องเรื่อยมาทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะเป็นที่นิยมกันมากในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

ผ.ศ.รังสรรค์


ก่อนที่จะพูดกันถึงตำหนิแม่พิมพ์ของพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพืปรกโพธิ์ กระผมจะขอให้คุณนิรนาม ช่วยกรุณาบรรยายถึงพุทธลักษณะทั่วไปของพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์ปรกโพธิ์ครับ


คุณนิรนาม


เป็นเรื่องที่กล้าหาญมาก ที่อาจารย์รังสรรค์ จะพูดถึงพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์ปรกโพธิ์ เพราะเป็นพิมพ์ที่ถกเถียงกันมาก อีกทั้งสร้างความไม่พอใจเป็นยิ่งนัก ตั้งแต่โบราณมา จึงไม่มีใครอยากจะพูดถึงพิมพ์ปรกโพธิ์กันครับ


ผ.ศ.รังสรรค์


กระผมคิดว่า เป็นความจำเป็นที่จะต้องชี้แจงทางวิชาการอย่างตรงไปตรงมา ด้วยเหตุและผล เพราะเป็นเรื่องที่จะตัองพิจารณาศึกษากันต่อไปครับ


คุณนิรนาม


ครับ พูดถึงพุทธลักษณะทั่วๆไปของพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม เป็นขั้นเป็นตอนคือ 

๑ พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์ปรกโพธิ์ เป็นพระสมเด็จที่บรรจุอยู่ในกรุพระเจดีย์ของวัดใหม่อมตรส สภาพขององค์พระสมเด็จ จึงมีขี้กรุที่มีเอกลักษณ์ของกรุวัดบางขุนพรหมโดยเฉพาะ
๒ พระสมเด็จพิมพ์ปรกโพธิ์ มักจะมีการลงรักปิดทองหรือลงทองล่องชาดในกรุ และการลงทองล่องชาดในกรุจะปรากฎเฉพาะพิมพ์ปรกโพธิ์เท่านั้น พระสมเด็จบางขุนพรหมพิมพ์อื่นๆ จะไม่เคยปรากฎลงรักล่องชาดให้เห็น
พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์ปรกโพธิ์มีเพียงพิมพ์เดียวเท่านั้น แต่ในสมัยโบราณมีความเข้าใจกันว่า พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์ปรกโพธิ์มีทั้งหมด ๒ พิมพ์ เรียกว่า พิมพ์ปรกโพธิ์ สังฆาฏิ กับ พิมพ์ปรกโพธิ์ ฐานแซม
๔ ตำหนิศิลปแม่พิมพ์ของโพธิ์ จะปรากฎช่อโพธิ์อยู่ประมาณ ๒๐ ช่อ ครอบคลุมอยู่ด้านบนและด้านข้างของพระเศียรพระประธาน
๕ สำหรับพิมพ์ด้านหลังขององค์พระ มีเพียงพิมพ์เดียวเท่านั้น คือ  "พิมพ์หลังเรียบ"
๖ พุทธศิลปะขององค์พระประธานและฐานทั้ง ๓ ชั้น จะหนาใหญ่และสง่างาม คล้ายพิมพ์เกศบัวตูม สังเกตุได้ลำพระกรจะอวบอ้วน พระเพลาหน้าตักจะหนาใหญ่ ฐานทั้ง ๓ ชั้น จะหนาและใหญ่โต ตลอดจนซุ้มครอบแก้วจะหนาใหญ่กว่าพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์อื่นๆ
สันนิษฐานว่า พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์ปรกโพธิ์ น่าจะเป็นพิมพ์ที่ทางวัดได้จัดสร้างขึ้นเป็นพระชุดท้ายๆ มวลสารที่สร้างพระมีน้อยมาก พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์ปรกโพธิ์ จึงมีน้อยมาก เนื้อมวลสารขององค์พระสมเด็จจะฟ่ามๆ ไม่หนาแน่นแข็งแกร่งเหมือนพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์อื่นๆ
๘ สำหรับผิวของพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์ปรกโพธิ์ จะไม่แกร่งเหมือนพิมพ์อื่นๆ มักจะปรากฎรอยหดเหี่ยวและย่นเหมือนแป้งแช่น้ำ เมื่อปิดทองล่องชาดในกรุพระเจดีย์ ชาดจะเก่าและซีดมาก ส่วนทองที่ปิดบนผิวพระก็จะแห้งเหี่ยวย่นไปตามผฺิวขององค์พระสมเด็จครับ

ผ.ศ.รังสรรค์


คุณนิรนามครับ พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม ตั้งแต่กรุเก่ามาก็ไม่เคยเห็นพิมพ์ปรกโพธิ์ มวลสารที่สร้างพระสมเด็จ ก็ไม่เหมือนกับพระสมเด็จบางขุนพรหมพิมพ์อื่นๆ มีแต่ผิวกรุเท่านั้น ที่มีส่วนเหมือนพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม อีกทั้งยังมีการลงรักล่องชาด ซึ่งเป็นเอกลักษณ์พิเศษเฉพาะของพิมพ์ปรกโพธิ์เท่านั้น น่าจะวิเคราะห์ว่าพระพิมพ์ปรกโพธิ์ ที่ขุดขึ้นมาได้จากกรุวัดใหม่อมตรส ที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์โต พรหมรังสี เป็นผู้สร้าง น่าจะเป็นพระที่ท่านเจ้าประคุณเจ้าอาวาสวัดบางขุนพรหม นำพระมาบรรจุไว้ใหม่ สมัยเมื่อคราวบรรจุพระเพิ่ม ในกรุพระเจดีย์ภายหลังที่มีการตกเบ็ดครั้งใหญ่ครับ


คุณนิรนาม


ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรนั้น ก็ไม่มีใครกล้าจะยืนยัน ได้แต่อธิบายไปตามหลักวิชาการเท่านั้น ถึงจะไม่ใช่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์โต พรหมรังสี เป็นผู้สร้าง แต่พระสมเด็จพิมพ์ปรกโพธิ์ ก็เป็นพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม อย่างแน่นอนครับ


ผ.ศ.รังสรรค์


คุณนิรนามครับ คงเป็นคำถามทางวิชาการเกี่ยวกับศิลปะตำหนิแม่พิมพ์ ซึ่งมีความสำคัญที่สุด ที่จะขอให้คุณนิรนามอธิบายอย่างละเอียดด้วยครับ


คุณนิรนาม


ขนาดขององค์พระสมเด็จพิมพ์ปรกโพธิ์ จะมีขนาดเท่าๆกับพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์อื่นๆ แต่เนื่องจากซุ้มเรือนแก้ว องค์พระประธาน และซุ้มทั้งสามชั้น มีความล่ำสันมาก จึงทำให้ขนาดขององค์พระสมเด็จพิมพ์ปรกโพธิ์ดูเล็กลงไปหรือแคบลงไปกว่าขนาดทั่วๆไป

-ผิวของพระสมเด็จพิมพ์ปรกโพธิ์จะดูฟ่ามๆ เนื้อไม่แกร่งเท่ากับพระสมเด็จวัดบางขุนพรหมพิมพ์อื่นๆ
-ขอบแม่พิมพ์ทั้ง ๔ ด้าน จะปรากฎไม่ชัดเจนนัก เพราะพระเนื้อฟ่าม ทำให้ขอบแม่พิมพ์ติดชัดไม่เต็มที่ แต่ก็เห็นร่องรอยของขอบแม่พิมพ์ค่อนข้างชัดเจน
-ซุ้มครอบแก้วจะมีขนาดหนาใหญ่มาก ใหญ่กว่าซุ้มครอบแก้วของพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม ในพิมพ์อื่นๆ อีกทั้งจะหนาใหญ่กว่าซุ้มครอบแก้วของพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตารามด้วยซ้ำไป
-ซุ้มภายในซุ้มครอบแก้วจะอยู่ต่ำกว่าพื้นภายนอกซุ้มครอบแก้วเล็กน้อย
-ปรกโพธิ์นั้นเป็นกลุ่มใบโพธิ์ ในลักษณะที่เป็นใบโพธิ์คว่ำห้อยปลายแหลมลงมา
-ในองค์พระสมเด็จ ที่ติดชัดเจน จะเห็นก้านโพธิ์ต่อใบเป็นทอดๆ มีทั้งหมดเป็น ๒๐ ช่อ
-พระเกศ จะเป็นรูปปลีใหญ่ ปลายแหลม ไม่จรดยอดซุ้มครอบแก้ว
-พระพักตร์กลมเป็นผลมะตูมใหญ่ และในองค์ที่ติดชัด จะเห็นใบหน้า ตา จมูก และปาก ค่อนข้างชัด
-พระกรรณทั้งสองข้าง จะใหญ่และเอียงแนบกับพระพักตร์
-ลำพระกร จะหนาใหญ่และตั้งฉากกับลำพระองค์ขององค์พระประธาน
-เส้นสังฆาฏิจะพาดเฉียงกับพระอุระ ไม่อยู่กึ่งกลางเหมือนพิมพ์อื่นๆ
-ตักจะหนาใหญ่และนูนสูงมาก ในองค์ที่ติดชัดๆ จะเห็นเป็นเรียวพระบาท
-เส้นแซมใต้ตัก จะเห็นเป็นเส้นเรียวเล็ก ปลายเส้นแซมจะม้วนเข้าหาหัวฐานชั้นที่สาม
-ฐานชั้นที่สาม จะอ้วนใหญ่มาก หนาเกือบเท่าฐานชั้นที่ ๑ ที่หัวฐานทั้งสองข้างจะกลมมนคล้ายหน้าตัก
-ฐานชั้นที่สอง จะมีเส้นเล็กกว่า ฐานชั้นที่สามเล็กน้อย มีสันกลางฐานเป็นเส้นคม
-หัวฐานชั้นที่สองทั้งสองข้าง จะเป็นเหลี่ยมหัวสิงห์ที่ชัดเจนมาก
-เหนือฐานชั้นที่สอง จะมีเส้นแซมปลิ้นขึ้นมาชัดเจน ความยาวของเส้นแซมจะสั้นกว่าฐานชั้นที่สองเล็กน้อย และวางอยู่กลางฐานชั้นที่สอง
-ฐานชั้นที่หนึ่งเป็นแท่งหนาใหญ่มาก และเป็นแท่งตัน
-พิมพ์ด้านหลังเป็นพิมพ์เรียบ และมีเพียงพิมพ์เดียวเท่านั้น

ผ.ศ.รังสรรค์


ครับ ตำหนิแม่พิมพ์ของพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์ปรกโพธิ์ ก็คงต้องยุติเพียงแค่นี้ เป็นอันว่า พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม ก็คงต้องยุติเพียงแค่บทความเท่านี้เอง สำหรับรายละเอียดทางด้านวิชาการ ก็คงต้องมาบรรยายถึงองค์ประกอบของพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม และพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม เพื่อเป็นการเพิ่มพูนความรู้ให้มากขึ้น ให้รอบรู้จริงๆคือ

๑ เรื่องราวเกี่ยวกับการจุ่มรักปิดทอง การจุ่มรักน้ำเกลี้ยง และการทารักปิดทอง เป็นต้น
๒ เรื่องของคราบน้ำหมาก

๘ จากข้อมูลหนังสือตำราของ ผู้อำนวยการหรือผู้ชำนาญการ อรรถภูมิ บุณยเกียรติ ที่บันทึกไว้ในหนังสือคู่มือนักสะสม ปีที่ ๑๘/ประจำเดือน พฤษภาคม ๒๕๕๒ พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ปรกโพธิ์ ไว้ว่า


ดังที่กล่าวไว้แล้วว่า พิมพ์ปรกโพธิ์ เป็นอีกแม่พิมพ์หนึ่งที่ถือได้ว่าคลาสสิกที่สุด ทั้งนี้เพราะครูช่างที่รังสรรค์งาน พิมพ์ปรกโพธิ์ ของวัดระฆัง ท่านได้ประมวลเอาเอกลักษณ์และศิลปะพิมพ์ทรงอันเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละพิมพ์ มาประมวลไว้ในพิมพ์ปรกโพธิ์หลายๆแม่พิมพ์ ซึ่งอาจแบ่งแยกได้ดังนี้

๑ พิมพ์ปรกโพธิ์แบบพระประธาน
๒ พิมพ์ปรกโพธิ์แบบทรงเจดีย์
๓ พิมพ์ปรกโพธิ์แบบเกศบัวตูม
๔ พิมพ์ปรกโพธิ์แบบฐานแซม

เมื่อกล่าวถึง พิมพ์ปรกโพธิ์แบบพระประธาน หลายท่านอาจรู้สึกงง เพราะไม่เคยพบเห็น หรืออาจพบเห็นแล้วมิได้เฉลียวใจว่า ศิลปะพิมพ์ทรงของพิมพ์ปรกโพธิ์แบบนี้ จะเป็นพิมพ์ปรกโพธิ์แบบพระประธานหรือไม่ ซึ่งแน่นอนว่า พิมพ์ปรกโพธิ์แม่พิมพ์พระประธานนั้นหาชมได้ยากมาก แต่ขอยืนยันว่ามีนะครับ


พิมพ์ปรกโพธิ์แบบทรงเจดีย์ พิมพ์นี้รายละเอียดเค้าโครงขององค์พระ หน้าตักและฐานจะมีฟอร์มหรือรูปพรรณของพิมพ์ทรงเจดีย์ หรือละม้ายคล้ายพิมพ์ทรงเจดีย์อยู่ไม่น้อย แล้วช่างจึงแกะให้ปรากฎลักษณะของใบโพธิ์ที่ปกคลุมลงมา


ในขณะเดียวกันหากจะกล่าวถึง พิมพ์ปรกโพธิ์แบบเกศบัวตูม ก็จะมีลักษณะขององค์พระคล้ายคลึงกับพิมพ์เกศบัวตูม ที่ช่างบรรจงสอดใส่ใบโพธิ์และกิ่งโพธิ์เอาไว้ ซึ่งแน่นอนว่ารายละเอียดส่วนอื่นๆนั้น ก็จะปรากฎคล้ายคลึงกัน เช่น เส้นสังฆาฏิ หรือแม้แต่เกศพระ ในส่วนของเกศพระนี้ มีข้อน่าสังเกตุเฉพาะของพิมพ์ปรกโพธิ์ ส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะเกศบัวตูมเกือบทั้งหมด และพระพักตร์มักจะเป็นผลมะตูมชัดเจน ส่วนการขัดสมาธิของพิมพ์ปรกโพธิ์นั้น หากเป็นปรกโพธิ์แบบเกศบัวตูม ก็มักจะขัดสมาธิแบบเดียวกัน คือมีทั้งปรกโพธิ์แบบเกศบัวตูม ประเภทแม่พิมพ์ที่เห็นว่าเป็นการขัดสมาธิเพชร และรวมทั้งประเภทปรกโพธิ์เกศบัวตูมที่ขัดสมาธิราบชัดเจนก็มี


สำหรับ พิมพ์ปรกโพธิ์แบบฐานแซม นั้น มักจะปรากฎเส้นแซมโยงจากปลายเท้าซ้ายลากมาตลอดแนวหน้าตัก คล้ายๆกับเส้นแซมที่ปรากฎในพระมฤคทายวัน พิมพ์ปรกโพธิ์ และแน่นอนว่านอกเหนือจากเส้นแซมดังกล่าว เส้นแซมระหว่างฐานบนกับฐานกลาง ก็มักจะปรากฎให้เห็นเช่นกัน


เนื้อหา


ในส่วนของเนื้อหานั้น เอกลักษณ์ของเนื้อพิมพ์ปรกโพธิ์นั้น จะมีสองลักษณะ แต่ที่พบมากและอาจไม่ค่อยได้รับการยอมรับจากสังคมวงการ คือเนื้อหาแบบแก่น้ำมัน ส่วนเนื้อหาอีกประเภทหนึ่ง ก็คือ เนื้อหาแบบวัดระฆังทั่วไป แต่ส่วนใหญ่ของเนื้อพิมพ์ปรกโพธิ์นั้น มักจะเป็นเนื้อละเอียด แน่น แกร่ง และความหลากหลายของเนื้อหา มักจะมีความแตกต่างอยู่กับพิมพ์อื่นๆไม่น้อย จึงเป็นเหตุให้บรรดาเซียนหรือผู้ชำนาญการหลายๆท่าน ไม่ใคร่อยากจะปลงใจเชื่อว่า พิมพ์ปรกโพธิ์ ของวัดระฆังมีอยู่จริง


ด้วยหลายๆข้อมูลที่กล่าวมาแล้ว เป็นเหตุให้น่าสันนิษฐานถึงความเป็นไปได้หรือความน่าจะเป็นของ พิมพ์ปรกโพธิ์ ที่พบเห็นเล่นหายอมรับร่วมกันได้ หรือบางองค์ที่เขามิอาจยอมรับว่าเป็นพระวัดระฆังแท้ ก็ด้วยอาจจะเป็นเพราะว่า วาระในการจัดสร้าง พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ปรกโพธิ์ นี้ น่าจะเป็นการสร้างต่างวาระกันกับพิมพ์อื่นๆอีก ๔ แม่พิมพ์ ซึ่งตัวผมเองอยากจะสันนิษฐานเช่นนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ต้องลงความเห็นและเชื่อว่า ศิลปะพิมพ์ทรงปรกโพธิ์ นั้น ถูกรังสรรค์และถ่ายทอดถ่ายเทมาจากพิมพ์อื่นๆนั่นเอง จึงเชื่อได้ว่าแม่พิมพ์ปรกโพธิ์ทุกพิมพ์ทรง ก็เกิดจากกลุ่มช่างเดียวกันกับพิมพ์อื่นๆ แต่ก็เชื่อได้ว่า น่าจะเป็นพิมพ์ที่สร้างขึ้นหลังจากพิมพ์อื่นๆสร้างเสร็จสิ้นไปแล้ว ทั้งนี้ด้วยเหตุผลที่ว่า ช่างได้ประมวลรายละเอียดเอกลักษณ์ของพิมพ์ต่างๆมารวมไว้ในพิมพ์ปรกโพธิ์หลากหลายแม่พิมพ์ดังที่กล่าวแล้ว และด้วยจำนวนการพบเห็นพิมพ์ปรกโพธิ์ของวัดระฆังน้อยมาก อาจสันนิษฐานได้ว่าน่าจะสร้างขึ้นในวาระหลังๆ ก่อนที่เจ้าพระคุณสมเด็จฯใกล้จะถึงแก่กาลกิริยา


แต่มีผู้ชำนาญการบางท่าน ที่เคยร่วมสนทนาถึงพระสมเด็จพิมพ์ปรกโพธิ์ หรือแม้แต่นักสะสม วีไอพี รุ่นเก่าๆ ระดับที่มีเกณฑ์อายุ ๘๐-๙๐ ปี ท่านกลับเชื่อว่า พิมพ์ปรกโพธิ์ ควรจะสร้างก่อนพิมพ์อื่นๆ ไม่เป็นไรครับ ไม่ว่าข้อสันนิษฐานของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะถูกหรือจะผิด ในที่นี้คงไม่ต้องยืนยันกัน แต่ขอฟันธงว่า พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ปรกโพธิ์ มีอยู่จริงและมีอยู่หลายแม่พิมพ์ดังที่กล่าวมาแล้ว ประการที่สำคัญนั้น แม่พิมพ์ปรกโพธิ์ คงมีพระให้พบเห็นกันน้อยกว่าพิมพ์อื่นๆ และอีกประการหนึ่งในชั้นหลังๆหรือชั้นต่อๆมาของวัดต่างๆ ก็มีการสร้างพิมพ์ปรกโพธิ์กันมากมาย จนเกิดลักษณะปนเปกันไป อาจก่อให้เกิดความยาก ในการแยกแยะหรือแม้แต่จะศึกษายอมรับกัน รายละเอียดอื่นๆ คงเอาไว้กล่างถึงในโอกาสสำคัญต่อไป


ท้ายที่สุดนี้ อยากจะแสดงความยินดีกับทุกท่านหรือบางท่านที่อาจมีพิมพ์ปรกโพธิ์ ไว้ในครอบครองแล้ว สำหรับท่านที่ยังไม่มีอยากจะให้กำลังใจ และขอบอกว่าหากจะล่าฝันเพื่อการสักการะบูชาอย่างแท้จริง พิมพ์ปรกโพธิ์ เป็นแม่พิมพ์ที่ท่านต้องไม่มองข้าม และเชื่อว่าไม่ช้าฝันของทุกท่านอาจเป็นจริงได้จาก พิมพ์ปรกโพธิ์ นี่ละครับ


๙ ข้อมูลจากประสบการณ์ตรงและจริง 
ของ นายอมร ชุติมาวงศ์

จากปีพ.ศ.๒๕๓๔ ผมได้พระสมเด็จปรกโพธิ์องค์แรก


















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น