ประวัติสมเด็จโต2


ประวัติสมเด็จโต 2


จากหลักฐานที่ปรากฎในหนังสือพิมพ์"ไทยใหม่" ฉบับประจำปีมะเมีย พ.ศ. 2485 ได้ตีพิมพ์ข้อความที่นายพร้อม สุดดีพงษ์ได้จดบันทึกไว้เมื่อครั้งไปที่วัดอินทรวิหาร ตามที่เจ้าอาวาสได้เปิดโบสถ์ให้ดูและพระยาทิพโกษา (สอน โลหนันท์) ได้นำมาลงไว้ท้ายเรื่อง "ประวัติขรัวโต" พระอาจารย์ของสมเด็จโตมีใครบ้าง จากหลักฐานที่ยืนยันได้มีทั้งหมด 4องค์ด้วยกัน คือ

1 พระอาจารย์แก้ว
2 ท่านอาจารย์
3 พระอาจารย์สุก
4 อาจารย์เสม

1 พระอาจารย์แก้ว


จากภาพที่5 ผนังโบสถ์วัดอินทรวิหาร มีคำบรรยายเกี่ยวกับพระอาจารย์แก้วดังนี้

ข้างหน้าต่างต่อมา มีภาพประตูเมืองกับคนยืนอยู่ในประตู มีภาพวัด อยู่ริมแม่น้ำ พระอาจารย์แก้วกำลังกวาดลานวัด กับมีแม่เพียนท่านทองกำลังนั่งไหว้อยู่ มีภาพโบสถ์และศาลา ที่มุมมีเด็กนอนในเบาะ เขียนว่า  นายบุญเรืองบุตรนายผล และตัวนายผลเองกับแม่งุดกำลังหมอบกราบอยู่ข้างๆเด็กนั้น

ตอนหนึ่ง มีพระสงฆ์นั่งอยู่บนกุฏิ เขียนนามข้างล่างว่า เจ้าขร้ววัดบางลำพู กับมีบุรุษและสตรีอีก 3-4คนเดินอยู่ข้างล่าง

ตอนหนึ่ง  ริมตลิ่ง มีภาพคนขุดดิน คน1 กำลังเอาหีบเล็กๆจะฝัง มีผู้หญิงนั่งร้องไห้อยู่ข้างๆ และมีผู้ชายอีกคน 1 ให้ผู้หญิงซึ่งแบกของคล้ายๆคัมภีร์ ขี่คอ ให้คนหมู่นี้มีหนังสือเขียนไว้ว่า พระยารักษาคลัง

อีกตอนหนึ่ง เป็นภาพทหาร 3คน เดินนำหน้าแม่ทัพขี่ม้าขาว และมีทหารเดินตามหลังอีกหลายคน มีหนังสือเขียนว่า กรุงกำแพงเพชร

จากภาพที่ 8 ผนังโบสถ์วัดอินทรวิหาร มีคำบรรยายว่า

ข้างประตูด้านสกัด มีภาพช้าง 2 เชือกไล่แทงกัน ตัวที่หนีหันมามองตัวที่ไล่ 

ตอนหนึ่ง มีภาพกุฏิพระ 2 หลัง มีพระภิกษุกำลังนั่งอ่านใบลานอยู่ในกุฏิหลังละองค์ อีกองค์ 1 นั่งอ่านอยู่ที่นอกชานหน้ากุฏิ

อีกตอนหนึ่ง เป็นภาพบ้านพระยาไชยนาท ตัวพระยาไชยนาทนอนเอกเขนกอยู่ มีผู้หญิงหมอบอยู่ข้างๆ มีนายมาลักหมอบอ่านหนังสือให้ฟังอยู่ข้างล่าง และมีคนนั่งอยู่อีกหลายคน มีคนจูงม้าเดินมา มีเรือจอดอยู่ริมตลิ่งหน้าบ้าน มีคนอยู่ในเรือ 5คน คนที่ 1 อยู่ในประทุน คนที่ 2 หุงข้าว คนที่ 3 นั่งห้อยเท้าอยู่ข้างเรือ คนที่ 4 กำลังฉุดคนที่ 5 ซึ่งนอนอยู่หัวเรือ ทางหัวเรือมีจรเข้โผล่หัวขึ้นมา ริมตลิ่งมีผู้หญิง 3 คน กำลังฉุดกันขึ้นจากบันไดท่าน้ำ


จากภาพที่9 ผนังโบสถ์วัดอินทรวิหาร มีคำบรรยายว่า

ข้างประตูสกัดหน้า มีภาพหมู่บ้าน 2หมู่ อยู่ริมตลิ่งคนละฟาก มีคนลงเรือหลายลำอยู่ในลำแม่น้ำ มีหลวงสุนทรนั่งอยู่ในเรือลำหนึ่ง

ตอนหนึ่ง เป็นภาพแห่บวชนาคเข้ามาในวัด ในวัดมีภาพสมเด็จพระวันรัตนั่งอยู่บนกุฏิ

อีกตอนหนึ่ง มีภาพพระอาจารย์แก้ว นั่งอยู่บนกุฏิกับผู้ชาย 2-3 คน

จากความเป็นมา ข้อเท็จจริง ข้อพิจารณา ของผมเกี่ยวกับพระอาจารย์แก้วมีดังนี้

1 พระอาจารย์แก้วเป็นอาจารย์องค์แรกของสมเด็จโต พบกันครั้งแรกที่วัดสังเวชวิศยาราม

2 จากภาพวิเคราะห์ได้ว่าภาพวาดได้แสดงว่า ภูมิลำเนาเดิมของท่านอยู่ที่จังหวัดไชยนาท เช่นเดียวกับสมเด็จพระวันรัต ซึ่งจำเป็นต้องวิเคราะห์ต่อไปว่า สมเด็จพระวันรัตองค์นี้ เป็นองค์ที่อยู่ที่วัดโพธิ์หรือองค์ที่อยู่วัดเลียบ (วัดราชบูรณะ)

สมเด็จพระวันรัตน์ แปลว่า ผู้ยินดีในการอยู่ป่า ผู้รักการอยู่ป่า เป็นนามที่ได้มาจากลังกา เป็นสังฆนายกฝ่ายอรัญวาสี คู่กับ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ซึ่งเป็นสังฆนายกฝ่ายคามวาสี

องค์ที่อยู่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) คือ สมเด็จพระวันรัตน์ (แก้ว) ได้รับสมณสักดิ์ พ.ศ. 2337 โดยท่านเริ่มเป็นเจ้าอาวาสเมื่อพ.ศ. 2325 สิ้นสุดวาระ พ.ศ.2356 (ในช่วงอายุสมเด็จโตตั้งแต่ยังไม่เกิดจนถึงอายุท่านได้ 25 ปี)

องค์ที่อยู่วัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) คือ สมเด็จพระวันรัตน์ (มี) ซึ่งต่อมาเป็นสมเด็จพระสังฆราช (มี) ท่านประสูติเมื่อครั้งรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ แห่งกรุงศรีอยุธยา ตรงกับวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2293 เมื่อครั้งกรุงธนบุรี ทรงเป็นเปรียญเอก อยู่วัดเลียบ ครั้น พ.ศ.2325 เมื่อสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯทรงปราบดาภิเษก โปรดตั้งเป็นพระราชาคณะที่ พระวินัยรักขิต แทนตำแหน่งที่ พระอุปาฬี ด้วยต้องกับนามพระอรหันต์ พ.ศ. 2337 เลื่อนขึ้นเป็นพระพิมลธรรม และเมื่อสมเด็จพระวันรัต (แก้ว) วัดโพธิ์ ถึงมรณภาพ พ.ศ. 2356 จึงทรงเป็นสมเด็จพระวันรัตน์ (มี)

จากประวัติ ในปีพ.ศ. 2357 สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดให้สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) จัดคณะสมณทูตที่จะออกไปยังลังกา แต่โดยที่ขณะนั้นสมเด็จพระสังฆราชทรงพระชราภาพมาก ผู้ที่มาช่วยเป็นธุระจัดการเรื่องคัดเลือกพระที่จะเป็นสมณทูตออกไปครั้งนี้คือ สมเด็จพระวันรัต (มี) วัดราชบูรณะ (ซึ่งต่อมาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช มี) คัดเลือกได้พระที่จะออกไปลังกาครั้งนี้ 8 รูป คือ จากวัดราชบูรณะ 4 รูปและวัดมหาธาตุ 4รูป หนึ่งในสี่จากวัดราชบูรณะ ปรากฎชื่อว่า พระมหาแก้ว วัดราชบูรณะ ไม่ทราบว่าเป็นองค์เดียวกับพระอาจารย์ของสมเด็จโตหรือไม่ เพราะหากจะพิจารณาจากภาพวาดที่10และภาพวาดที่ 11

จากภาพวาดที่ 10 มีคำบรรยายว่า

มุขหน้าด้านใต้ มีภาพบ้านป่า ตอนหนึ่งมีภาพพรานถือหอก เอาหนังเนื้อคลุมตัว คลานเข้าไปใกล้เนื้อ 2ตัว

ตอนหนึ่ง มีภาพเรือใบ 2 ลำ

อีกตอนหนึ่ง มีภาพวัด มีพระภิกษุชราองค์ 1 กำลังนั่งตะบันหมากอยู่บนกุฏิ และมีคนถือของเดินมา 4-5 คน

จากภาพวาดที่ 11 มีคำบรรยายว่า

ข้างหน้าต่างผนังด้านใต้ มีภาพวัดและรูปสมเด็จพระสังฆราช นาค นอนเอกเขนกอยู่บนกุฏิ มีพระสงฆ์นั่งอยู่ข้างล่าง 3 องค์ 

ตอนหนึ่ง มีภาพพระสังฆราช มี นั่งอยู่ริมตลิ่งกับพระภิกษุอีกองค์หนึ่ง

ตอนหนึ่ง เป็นเรือนของเสมียนบุญมา ตัวเสมียนบุญมานอนเอกเขนกอยู่ มีท่านยายโหงและผู้หญิงอีก 2 คน นั่งอยู่ข้างล่าง มีคนหมอบอยู่ 4 คน

อีกตอนหนึ่ง เป็นภาพเรือนหลัง 1 มีท่านยายง่วนนั่งห้อยเท้าอยู่ และมีผู้หญิง 4 คน นั่งอยู่ข้างล่าง นอกจากนี้เป็นภาพ แม่น้ำเรือใบ กับคนอยู่บนตลิ่งหลายคน

จากความเป็นมา ข้อเท็จจริง ข้อพิจารณาของผมมีดังนี้

สมเด็จโต บวชเณรที่วัดสังเวชวิศยาราม โดยมีพระบวรวิริยเถระ (อยู่)อ เป็นอุปัชฌาย์ และมีพระอาจารย์แก้วเป็นอาจารย์สอนทั้งปริยัติและปฏิบัติ ต่อมาพระอาจารย์แก้วย้ายมาอยู่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) สมเด็จโตก็ตามมาอยู่ด้วยและด้วยความอัจฉริยะภาพของสมเด็จโตจึงได้เรียนกับสมเด็จพระสังฆราช (ศุข)ตั้งแต่เป็นเณร จนถึงสมเด็จพระสังฆราช (ศุข)สิ้นพระชนม์ในปีพ.ศ. 2359 พระอาจารย์แก้วและสมเด็จโตต้องคุ้นเคยกับสมเด็จพระสังฆราช (มี)และสมเด็จพระสังราช (นาค) ที่อยู่วัดเลียบทั้ง 2 องค์ จึงได้เขียนภาพวาดทั้ง 2 องค์บันทึกเอาไว้

2 ท่านอาจารย์

จากภาพวาดที่ 6 มีคำบรรยายเกี่ยวกับท่านอาจารย์ว่า

ข้างหน้าต่างต่อมา มีภาพบ้านและคนกำลังใส่บาตรอยู่หน้าประตูบ้าน มีพระหลายองค์คอยรับบาตร

มีภาพวัดและกุฏิ 1 หลัง มีพระภิกษุองค์ 1 นั่งอยู่ มีคนหมอบอยู่ข้างหน้า มีหนังสือเขียนว่า ท่านอาจารย์

ตอนหนึ่ง มีพระภิกษุนั่งอยู่กับพื้นดิน มีหนังสือเขียนว่า พระครูใย และมีคนหมอบถวายดอกบัว 3 ดอกอยู่ข้างหน้า

อีกตอนหนึ่ง เป็นภาพกำแพงเมือง มีบ้านพระพิจิตร ตัวพระพืจิตรนอนเอกเขนกอยู่บนเรือน มีผู้หญิงนั่งอยู่ในประตู 1 คน และกำลังนวดพระพิจิตรอยู่อีก 1 คน

จากความเป็นมา ข้อเท็จจริง ข้อพิจารณาของผมมีดังนี้


ท่านอาจารย์ ที่สมเด็จโต ได้กล่าวถึง ต้องมีสมณศักดิ์สูงกว่าอาจารย์องค์อื่นๆของท่าน เพราะองค์อื่นๆท่านกล่าวแต่ว่า "อาจารย์" ดังนั้นฟันธงได้เลยว่า ท่านอาจารย์ที่สมเด็จโตกล่าวถึงนั้นคือ สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) ทรงมีพระประวัติในเบี้องต้นเป็นมาอย่างไร ไม่ปรากฎหลักฐานเช่นเดียวกับสมเด็จพระสังฆราช (ศรี) เมื่อครั้งกรุงธนบุรี ทรงเป็นพระราชาคณะที่ พระญาณสมโพธิ อยู่วัดมหาธาตุ ซึ่งขณะนั้นเรียกว่า วัดสลัก  ถึงพ.ศ. 2323 ในสมัยกรุงธนบุรี  ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระธรรมเจดีย์

มาในรัชสมัยรัชกาลที่ 1 โปรดให้เลื่อนเป็นที่ พระพนรัตน ซึ่งเป็นตำแหน่งรองสมเด็จพระสังฆราชหรือรองแต่สมเด็จพระอริยวงษ์ฯ ในทำเนียบสมณสักดิ์ตั้งแต่ครั้งกรุงเก่ามา มีตำแหน่งสังฆปรินายก 2 องค์ เรียกว่า "พระสังฆราช ซ้าย ขวา" สมเด็จพระอริยวงษ์เป็นพระสังฆราชฝ่ายขวา ว่าคณะเหนือ พระพนรัตนเป็นพระสังฆราชฝ่ายซ้าย ว่าคณะใต้ แต่ที่พระพนรัตนโดยปกติมิได้เป็นสมเด็จ ส่วนพระสังฆราชฝ่ายขวาเป็นสมเด็จทุกองค์ พระพนรัตนมาเป็นสมเด็จทุกองค์ในสมัยรัชกาลที่ 2 เป็นต้นมา

สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) ทรงเป็นอธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุ รูปที่ 1 ในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่ครั้งสมณศักดิ์ที่พระธรรมเจดีย์ วัดสลักเปลี่ยนชื่อถึง 3 ครั้ง วัดนิพพานาราม วัดพระศรีสรรเพชดาราม วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ

ในการสังคายนาพระไตรปิฎก ครั้งแรกในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. 2331 พระสังฆราช (ศุข) ซึ่งขณะนั้นคือ พระพนรัตน ทรงเป็นแม่กองชำระพระวินัยปิฎก ย่อมแสดงให้เห็นว่า ทรงเป็นผู้ชำนาญพระไตรปิฎกพระองค์หนึ่ง

ทรงเป็นที่เคารพนับถือของพระราชวงศ์และทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ของพระราชวงศ์หลายพระองค์
1 สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์
2 สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท
3 สมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข กรมพระอนุรักษ์เทเวศร์

ท่านอาจารย์ของสมเด็จโต คือสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ นั่นคือ สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) ชึ่งครองสมณศักดิ์ตั้งแต่พ.ศ.2336-พ.ศ. 2359 รวมเป็นเวลาถึง ๒๓ ปี (ตั้งแต่สมเด็จโตอายุ 5ขวบ สมเด็จโตบวชเณร พ.ศ.๒๓๔๓ สมเด็จโตบวชพระพ.ศ.๒๓๕๑ จนถึงอายุ 25 ปี) ที่มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับความเก่งด้านพระไตรปิฎกของสมเด็จโตคงจะเกิดขึ้นในช่วงอายุที่สมเด็จโตเรียนกับท่านอาจารย์ของท่าน จนรัชกาลที่๑โปรดให้บรรพชาที่วัดพระแก้ว โดยท่านอาจารย์มีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดพิจิตร โดยพิจารณาจากภาพวาด

3 พระอาจารย์สุก

จากภาพวาดที่ 14 มีคำบรรยายเกี่ยวกับอาจารย์สุกว่า

ข้างหน้าต่างผนังด้านใต้ต่อมา  มีภาพวัด มีเจ้าคุณวัดครุฑ เดินสะพายบาตร มีสามเณรแบกบาตรเดินตามหลัง มีสุนัขอยู่ข้างหน้าหลายตัว

ตอนหนึ่ง มีภาพพระภิกษุนั่งฉันอยู่ในศาลา มีคนปฏิบัติอยู่หลายคน ใต้พระภิกษุองค์นั้น มีหนังสือเขียนไว้ว่า พระอาจารย์สุก

อีกตอนหนึ่ง มีภาพขุนพรหม กำลังนั่งยองๆไหว้ เจ้าคุณเทพกระวี ซึ่งสะพายบาตรแบกตาลิปัตร และมีคนสะพายย่ามเดินตามหลัง

จากความเป็นมา ข้อเท็จจริง ข้อพิจารณาเกี่ยวกับ อาจารย์สุก ของผมมีดังนี้

อาจารย์สุก องค์นี้ คือ สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ไก่เถื่อน วัดพลับหรือวัดราชสิทธาราม พระสังฆราชองค์ที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ อดีตพระอธิการวัดท่าหอย อยุธยา เป็นพระอาจารย์องค์ที่ 3 ของสมเด็จโต ท่านเป็นต้นตำหรับคำบริกรรมภาวนา "พุทโธ" ลูกศิษย์ของท่านคือ พระภิกษุวชิรญาณหรือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 ลูกศิษย์ต่อมาคือ พระพันธุโล (ดี) เจ้าอาวาสวัดสุปัฏนารามวรวิหาร วัดธรรมยุติวัดแรกแห่งภาคอิสาน จังหวัดอุบลราชธานี ลูกศิษย์ต่อมาคือ ท่านเทวธัมมี (ม้าว) เจ้าอาวาสวัดศรีอุบลรัตนารามหรือวัดศรีทอง  ลูกศิษย์ต่อมาคือ พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ลูกศิษย์องค์ต่อมาคือ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

สมเด็จพระสังฆราช (สุก)ครองสมณศักดิ์ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2363- พ.ศ. 2365 (สมเด็จโตอายุ 32-34 ปี) พระชันษาของท่านได้ 90 ปี ประสูติ 5 มกราคม พ.ศ. 2276 กรุงศรีอยุธยา สิ้นพระชนม์ 4กันยายน พ.ศ. 2365 พ.ศ.๒๓๓๑สมเด็จโตเกิดท่านอายุได้ ๕๕ ปี พ.ศ.๒๓๔๓ สมเด็จโตบวชเณร ท่านอายุได้ ๖๗ ปี พ.ศ.๒๓๕๑ สมเด็จโตบวชพระ ท่านอายุ ๗๕ ปี

จะเห็นได้ว่า ประวัติของท่านชัดเจนเป็นชาวอยุธยา รูปภาพที่สมเด็จโตให้วาด จะมีภาพประกอบเป็นภาพวัดและวัดในอยุธยา เช่นเดียวกับเมื่อกล่าวถึงพระอาจารย์แก้วเป็นชาวชัยนาท ท่านอาจารย์เป็นชาวพิจิตร อาจารย์ของสมเด็จโต องค์ต่อไปที่จะกล่าวถึงคือ อาจารย์แสง ซึ่งเป็นชาวลพบุรี

4 อาจารย์เสม

จากภาพวาดที่ 16 มีคำบรรยายเกี่ยวกับอาจารย์เสมว่า

มุมด้านใต้หลังพระประธาน  มีภาพวัด มีพระปรางค์

ตอนหนึ่ง  มีพระภิกษุรูป ๑ มีหนังสือเขียนว่า อาจารย์เสม กำลังจะลงท่าน้ำและมีคนนั่งอยู่ข้างหลัง ๓ คน

ตอนหนึ่ง  มีพระภิกษุรูป ๑  ข้างล่างเขียนว่า เจ้าคุณขรัวแทน กำลังจะลงท่าน้ำ

อีกตอนหนึ่ง มีพระภิกษุรูป ๑ กับคฤหัสถ์อีกหลายคน

ด้านหลังพระประธาน ภาพลบเลือนมาก เพราะฉาบปูนใหม่ ชื่อคนที่มีอยู่ในภาพนี้รวม ๔๑ ชื่อ คือ................................................................

จากความเป็นมา ข้อเท็จจริง ข้อพิจารณาเกี่ยวกับ อาจารย์เสม ของผมมีดังนี้

อาจารย์เสมในที่นี้ ไม่ทราบว่าข้อผิดพลาดในการบันทึกนี้เกิดขึ้นในขั้นตอนใด ตั้งแต่ช่างที่เขียนที่ผนังโบสถ์ หรือจากการจดบันทึก หรือการพิมพ์ต่อมาในภายหลัง เพราะทั้ง ๓องค์ เขียนว่าพระอาจารย์ทั้ง ๓องค์ มาองค์ที่๔ เขียนว่าอาจารย์และยังเขียนผิดอีกด้วยว่า "เสม" ความจริงคือ พระอาจารย์แสง เป็นชาวลพบุรี พิจารณาจากภาพพระปรางค์ที่สมเด็จโตให้วาดเอาไว้ เป็นพระอาจารย์ที่สอนสมเด็จโตให้สร้างผงวิเศษ จากข้อมุลในหนังสือ พระสมเด็จฯ ของตรียัมปวาย ได้บันทึกไว้ว่า

พระอาจารย์หิน วัดระฆังฯ กล่าวว่า พระครูธรรมราช (เที่ยง) วัดระฆังฯ ซึ่งมีชีวิตอยู่ทันและเป็นศิษย์เจ้าพระคุณสมเด็จฯ มีอายุแก่กว่าพระธรรมถาวร สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ) และโยมของพระราชธรรมภาณี (ลมูล) ได้เคยเล่าให้ฟังว่า พระธรรมถาวร เคยบอกกับท่านว่า

 "การเล่าเรียนวิชาผงวิเศษ ๕ ประการ ของเจ้าพระคุณสมเด็จฯนั้น ท่านได้เล่าเรียนมาจาก พระอาจารย์แสง วัดมณีชลขันธ์ ชาวจังหวัดลพบุรี แต่เป็นการเรียนที่จังหวัดอยุธยา จำชื่อวัดไม่ได้เสียแล้ว และพระอาจารย์แสงองค์นี้ เป็นอาจารย์ดั้งเดิมองค์หนึ่งของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ คือตั้งแต่สมัยที่เจ้าพระคุณสมเด็จฯยังเป็นสามเณร แต่ไม่ปรากฎแน่ชัดว่าท่านได้เริ่มเรียนผงวิเศษห้านี้ตั้งแต่เมื่อปีใด และจะเรียนจากพระอาจารย์แสงที่อยุธยาแห่งเดียว หรือจากสำนักอื่นๆด้วย แต่จำได้ว่าเจ้าพระคุณสมเด็จฯได้อุบายหนีการแต่งตั้งในสมัยรัชกาลที่ ๓ โดยมาอยู่กับ พระอาจารย์แสง ที่อยุธยาครั้งหนึ่ง และในครั้งนั้นท่านยังได้สร้าง พระหลวงพ่อโต ที่อยุธยา ต่อจากนั้น ก็ยังได้มาสร้างที่วัดระฆังฯอีก ก่อนที่ท่านจะได้สร้างพระสมเด็จ"

จากการที่ผมได้ตามล่าหาความจริงเกี่ยวกับสมเด็จโตนั้น ในปีพ.ศ. ๒๕๕๑ ผมได้ลาพักร้อน โดยเริ่มต้นตั้งแต่กำแพงเพชร พิจิตร ชัยนาท ลพบุรี ที่ลพบุรีผมไปที่วัดมณีชลขันธ์ ไปดูเจดีย์ที่พระอาจารย์หลวงปู่แสงสร้างไว้ ไปเดินดูรอบๆบริเวณเห็นบรรยากาศท่าน้ำที่สมเด็จโตได้ให้ช่างวาดไว้ในภาพที่ ๑๖

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น